อินเดียดูงานปลูกทุเรียนเมืองไทย บางคนไม่เคยกินทุเรียน บอกอร่อยมาก

อาจารย์ศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระ ข้าราชการเกษียณ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้โพสต์ในเฟสบุ๊ค “ศักดา ศรีนิเวศน์” เกริ่นหัวเรื่อง ว่า “ทุเรียนไทยมีเพื่อนปลูกเพิ่มขึ้นอีกแล้ว อินเดียกินทุเรียนเป็นมากเมื่อไร ไทยมีสิทธิ์เดือดร้อนแน่” ..จากนั้นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนของรัฐเกรละ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักออกเสียงว่า “เคราล่า” ที่เป็นรัฐตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งตรงกับประเทศไทยว่าตั้งอยู่ตรงไหนอย่างไร ในรัฐนี้มีเมืองสำคัญอะไรบ้าง โดยเฉพาะได้ให้ข้อมูลว่า รัฐเกรมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิด (ที่เหมือนกับบ้านเรา) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรและมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของรัฐ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐเกรละ ได้แก่

1. มะพร้าว (Coconut) เกรละเป็นหนึ่งในผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย มะพร้าวมีการใช้หลากหลาย เช่น น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าว และน้ำมะพร้าว

2. ยางพารา (Rubber) รัฐเกรละมีสวนยางพาราจำนวนมากและเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของประเทศอินเดีย

3. เครื่องเทศ (Spices) เกรละเป็นที่รู้จักในฐานะ “ดินแดนแห่งเครื่องเทศ” ผลิตเครื่องเทศหลากหลายชนิด เช่น พริกไทย (Pepper), ขมิ้น (Turmeric), ขิง (Ginger), และลูกจันทน์เทศ (Nutmeg)

4. ชา (Tea) และกาแฟ (Coffee) พื้นที่เนินเขาของเกรละเหมาะสมสำหรับการปลูกชาและกาแฟ โดยมีการผลิตชาและกาแฟคุณภาพสูงที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ

5. การปลูกข้าว (Rice) ข้าวเป็นพืชอาหารหลักที่ปลูกในรัฐเกรละ พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกข้าว

6. ปาล์มน้ำมัน (Oil Palm) เป็นพืชที่สำคัญในการผลิตน้ำมันพืช

7. ผลไม้ เช่น กล้วย มะม่วง อะโวคาโด ทุเรียน และขนุน เป็นต้น

การเกษตรในรัฐเกรละมีความหลากหลายและมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นและการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนผลไม้ของรัฐเกรละ ได้นำพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดีของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและประเทศเวียดนามไปปลูกเป็นจำนวนมากแล้ว เช่น ทุเรียนหมอนทอง มูซานคิง หนามดำ ขนุนพันธุ์ T8 หรือทวาย แดงสุริยา มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว แก้วมังกร ส้มโอหลายพันธุ์ เช่นพันธุ์ทับทิมสยาม ขาวใหญ่ เป็นต้นศักดา

เนื่องจากทุเรียนและมังคุดเป็นผลไม้เมืองร้อนที่กำลังมีชื่อเสียงมากในตลาดโลก และรัฐเกรละก็อยู่ในโซนเดียวกับประเทศไทย ดังนั้น เกษตรกรชั้นนำของรัฐเกรละจึงให้ความสนใจที่จะปลูกมาก พวกเขาได้เดินทางมาดูงานไม้ผลเมืองร้อนต่างๆ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเชีย และมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย พวกเขาบุกมากันหลายคณะ เพื่อหาข้อมูลถึงศักยภาพของทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ โดยในขณะนี้ได้เริ่มมีการปลูกมังคุดและทุเรียนกันบ้างแล้ว บางสวนก็เริ่มออกผลผลิตแล้ว เนื่องจากพวกชาวอินเดียส่วนมากยังไม่เคยกินทุเรียน หลายคนที่มาดูงานในคณะนี้ไม่เคยกินทุเรียนมาก่อน พวกเขาบอกว่ามันเหม็นแต่พอได้กินไปแล้ว พวกเขาบอกว่าอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้กินข้าวเหนียวทุเรียนถึงกับขอเพิ่มเป็นรอบสอง เพราะชาวอินเดียชอบกินของหวานนั่นเอง

“ถ้าอินเดียตอนใต้ปลูกทุเรียนเต็มพื้นที่เมื่อใด ทุเรียนที่ไทยและอาเซียนปลูกรวมกันคงทาบอินเดียไม่ติด” คือบทสรุปจาก อาจารย์ศักดา ศรีนิเวศน์

ทั้งนี้ อาจารย์ศักดา ศรีนิเวศน์ ยังมีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณ Shaji ที่มาดูงานการปลูกทุเรียนและไม้ผลที่จังหวัดจันทบุรี ในครั้งนี้ด้วย เขาเป็นเจ้าของสวนมังคุด ทุเรียนหมอนทอง มูซานคิง และโอฉี่ ที่รัฐคาเรล่า พื้นที่ 25 เอเคอร์(62.5 ไร่) ปัจจุบันทุเรียนหมอนทองอายุ 7 ปี ให้ผลผลิตแล้ว ผลหนึ่งหนักตั้งแต่ 2-6 กิโลกรัม ราคาขายที่สวน กิโลกรัมละ 200 บาท เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่เคยกินและยังไม่ค่อยรู้จักทุเรียนราคาจึงยังไม่สูงมากนัก แต่ก็ได้สร้างกระแสให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ตื่นตัวที่จะหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการไหลมาของเกษตรกรชาวสวนจากรัฐเคราล่าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

(ภาพจากเฟสบุ๊คอาจารย์ศักดา/การปลูกมังคุดที่อินเดีย – การคลุมดินที่โคนต้นมังคุดเพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกลงมามากจนทำให้ผลแตก เนื้อแก้ว หรือยางไหลที่เปลือก โดยเขาจะคลุมดินก่อนที่จะมาฝนตกหนัก และหลังจากฝนตกทิ้งช่วง 2-3 วันเขาก็จะเอาผ้าคลุมออก นับว่ามีความมานะมาก เมื่อถามว่าเขาได้องค์ความรู้นี้มาจากไหน เขาบอกว่าได้มาจากการดูงานที่ประเทศไทยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

ขอบคุณ : ข่าวและภาพประกอบ จากเฟสบุ๊ค ศักดา ศรีนิเวศน์ เข้าถึงได้ที่ https://www.facebook.com/sakda.sinives

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated