วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่แพมาลัย เขื่อนวชิรางกรณ์ – ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มอบหมายให้ นายชาคริต ตันติพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ ร่วมตัดทุเรียนลอยน้ำของลุงปี๊ด แพมาลัย กับ นายวีระศักดิ์ สุขทอง เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นายบัณฑิต พรหมทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี นายธนภัทร ฉัตรสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ นายชยุติ โสไกร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี นายจตุพร อิ่มจิตรเกษตรอำเภอทองผาภูมิ พร้อมทีมงานเกษตรจังหวัด-อำเภอ และทีมผู้สื่อข่าว อีก 15 ท่าน มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
ความเป็นมาของทุเรียนลอยน้ำ ถือกำเนิดที่แพมาลัย หมู่บ้านโบอ่อง ต.ปิล็อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี คุณตาปี๊ด สินเธาว์ หัวหน้าครอบครัวแพมาลัย เคยปลูกมะม่วงบนแพแล้วได้เก็บผลผลิต จึงทดลองปลูกทุเรียนดูบ้าง เพราะพื้นที่ริมเขื่อนมีปลูกหลายเจ้าได้ผลดี วิธีปลูกเน้นเรียนรู้จากธรรมชาติของต้นไม้ที่ปลูกอยู่ก่อน โดยเอาหญ้าแห้งมารองพื้นบนพื้นบวบ(แพไม้ไผ่) ผสมด้วยดินจากพื้นดินบนเกาะที่อยู่ด้านหลัง จากนั้นนำทุเรียนพันธุ์หมอนทองมีคนให้มาจากจังหวัดชุมพรปลูกลงไป ปลูกปีแรกๆก็ทำพื้นที่บริเวณปลูกไม่ใหญ่ ต่อมาก็ขายพื้นที่ปลูกให้กว้างไปเรื่อยๆและคอยเสริมดินเสริมหญ้าแห้งในทุกๆปี จนปลูกเข้าปีที่ 6 ทุเรียนเริ่มติดดอก แต่ไม่สามารถติดผลได้ กระทั่งย่างเข้าปีที่ 7 ปี ทางคุณศุภวัฒน์ มุรินทร์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทองผาภูมิหลายแปลงที่มักแวะเวียนมาหาได้มาร่วมกันหารือว่าปีที่ 7 นี้จะต้องทำให้ติดลูกให้ได้ โดยการช่วยเสริมแพไม้ไผ่ให้ทุเรียนลอยน้ำให้สูงกว่าเดิมและเติมดินไม่ให้ทรุดบางจนเกินไป ในที่สุดทุเรียนก็ติดผลมากกว่า 10 ผล แต่สุดท้ายได้ผลผลิตเพียง 3 ผล
หลังจากเฝ้ารอรอมาเนิ่นนานก็มาถึงวันตัดทุเรียน..นับจากวันที่ดอกบานจนถึงแก่จัดตัดได้อายุ 130 วัน ซึ่งถ้าเป็นทุเรียนหมอนทองที่ปลูกบนพื้นดินก็ 120 วัน แต่นี่ต้องแขวนลูกให้นานเป็นพิเศษ เพื่อให้ทุกคนที่ทราบข่าวได้มีเวลามาดู โดยในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนที่จะตัดลูกนั้นก็มีเกษตรกรจากจังหวัดจันทบุรีและระยองมาดูด้วย
สำหรับทุเรียนลูกแรกนั้น ทางนายอำเภอทองผาภูมิ และคณะทุกคนที่มาในครั้งนี้ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ว่าจะต้องให้คุณตาปี๊ดเป็นคนตัดเอง จนถึงวินาทีสำคัญหลังจากซักซ้อมจนเข้าใจว่าทุเรียนทั้ง 3 ลูก ใครจะเป็นคนตัดและมอบให้ใคร ก็ได้เวลาคุณตาปี๊ดใช้กรรไกรที่คุณศุภวัฒน์เตรียมมาให้บรรจงตัดด้วยมือขวา ท่ามกลางเสียงปรบมือแสดงความยินดี พร้อมๆกับเสียงการบันทึดภาพถ่ายคลิปของสื่อมวลชนในท้องถิ่น
ทุเรียนลูกแรก ที่คุณตาปี๊ดตัดนั้น ได้มอบให้นายอำเภอทองผาภูมิ และนายอำเภอส่งมอบต่อให้กับหัวหน้าสำนักงานจังหวัด เพื่อนำไปมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี
ทีมงานจากเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี
ทุเรียนลูกที่ 2 นายอำเภอทองผาภูมิ เป็นผู้บรรจงตัด จากนั้นมอบให้กับเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อนำไปทดสอบรสชาติ ความหวานและให้จัดทำเป็นข้อมูลทางวิชาการในการพัฒนาต่อยอดคุณภาพทุเรียนลอยน้ำต่อไป
มอบเงินเป็นกำลังใจ
โดยการตัดทุเรียนลอยน้ำในครั้งนี้ นายอำเภอทองผาภูมิได้มอบเงินค่าบำรุงต้นทุเรียนลอยน้ำให้กับคุณตาปี๊ดจำนวน 5,000 บาท เพื่อให้คุณตาปี๊ดมีกำลังใจในการผลิตทุเรียนลอยน้ำในฤดูกาลต่อไป
ลุงพร ต้องมา (คนไหนหนอ)
สำหรับทุเรียนลูกที่ 3 ที่ยังอยู่กับต้นก็แล้วแต่ว่าทางคุณตาปี๊ดและครอบครับแพมาลัยจะตัดวันไหน แต่ก็คาดว่าคงจะเก็บไว้ให้นานที่สุดและหลังจากนี้คุณตาปี๊ดบอกว่าจะทำการฟื้นฟูรากบำรุงต้น ตัดแต่งกิ่งจัดทรงต้นให้เข้าที่ โดยในช่วงระยะนี้ก็อาจจะมีน้ำหมักปลาหรือปุ๋ยที่ได้จากครัวที่ทำอาหารจากปลาเป็นหลักมาคอยเติมให้บ้าง
ภาพแห่งความยินดี (อาจมีไม่ครบทุกคนที่มา)
ผู้ให้ข้อมูล : นายชยุติ โสไกร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี และเรียบเรียงเพิ่มเติมโดยทีมงานเกษตรก้าวไกล ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
แพมาลัยจะมองเห็นต้นไทรเด่นเป็นสง่าอยู่ด้านหน้า แต่ทุเรียนจะอยู่ด้านหลัง