ไทย - นิวซีแลนด์ ผสานร่วมมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคเกษตร กระชับสัมพันธ์ ขยายโอกาสทางการค้า เปิดประตูตลาดสินค้าเกษตรไทยในตลาดนิวซีแลนด์
ไทย - นิวซีแลนด์ ร่วมมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคเกษตร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ ความท้าทายที่ต้องก้าวให้ทันจากการเติบโตที่ก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม และพฤติกรรมของผู้โภคที่เปลี่ยนแปลงไป เหล่านี้ ล้วนทำให้ทั่วโลกเริ่มความตระหนัก ปรับตัว และร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ก้าวทันบริบทโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรไทย ที่นับเป็นภาคการผลิตหลักสำคัญของประเทศ ดังนั้น จากนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันปรับเปลี่ยนไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และการบริหารจัดการที่เป็นระบบครบวงจร จึงได้ผลักดันความร่วมมือนวัตกรรมการเกษตร พร้อมมอบหมายคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของนิวซีแลนด์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และร่วมงานแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร (Fieldays 2024) ที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ ระหว่างวันที่ 10 – 14 มิถุนายน 2567 เพื่อสร้างความร่วมมือและเครือข่ายทางวิชาการ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรมอากาศยานและการบินเพื่อประโยชน์ทางการเกษตร ตลอดจนขยายโอกาสทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น สู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกร 3 เท่า ภายใน 4 ปีตามเป้าหมายรัฐบาล

สำหรับการเดินทางกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้คณะผู้บริหาร ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้าพบหารือกับ Mr. Shane Jones รัฐมนตรีของกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานซึ่งรับผิดชอบด้านมหาสมุทรและประมง การพัฒนาในภูมิภาค และด้านทรัพยากร

โอกาสนี้ รัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้เน้นย้ำความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยและนิวซีแลนด์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน และแรงงาน ผ่านความตกลงเขตเสรีการค้า หรือ ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-นิวซีแลนด์ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยปัจจุบัน นิวซีแลนด์มีการเปิดประเทศมากขึ้น ทั้งด้านแรงงานและการท่องเที่ยว ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือกับไทย ในการลงทุนในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่ตอบโจทย์สถานการณ์และความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรง การขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ รัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ให้แนวคิดที่สำคัญว่า การเพิ่มรายได้เกษตรกร มีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คือ น้ำ และพลังงานที่เพียงพอ รวมถึงปัจจัยการผลิตที่มีราคาถูกและการประยุกต์นวัตกรรมเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

นอกจากการหารือกับรัฐมนตรีของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของนิวซีแลนด์แล้ว คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้หารือกับหน่วยงานสำคัญต่างๆ ได้แก่ บริษัท Forsyth Barr ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการเกษตร หารือบริษัท Motion Capital ซึ่งเป็นกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีความร่วมมือกับบริษัท SCG ของไทย และได้ร่วมพัฒนาเมล็ดดอกคำฝอยในไทยเพื่อผลิตโปรตีนและไขมัน หารือองค์กร AgriZero อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีแนวคิดเพื่อยกระดับการผลิตของภาคการเกษตรของนิวซีแลนด์ ผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 และหารือร่วมบริษัท EnviroStrat ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยที่ช่วยสนับสนุนความยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะเลี้ยงหอยเม่นบนบก เพื่อฟื้นฟูสาหร่ายทะเลในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สศก.ในฐานะหน่วยงานเสนอแนะนโยบายทางการเกษตรของประเทศ จะนำผลการหารือมาประกอบการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนที่เหมาะสมกับภาคเกษตรไทย

นอกจากนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินขนาดเล็กที่มีสมรรถนะสูง สามารถขึ้นลงในระยะทางสั้น และสภาพพื้นที่จำกัด ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายภารกิจ เช่น การขนส่งผู้โดยสาร การสำรวจภาพถ่ายและภูมิประเทศ การโปรยสารเคมีและปุ๋ย และการทำฝนเทียม ซึ่งสามารถสนับสนุนภารกิจของปฏิบัติการของกรมฝนหลวงฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพบปะเกษตรกรผู้ผลิตนมแพะ และนมวัว ซึ่งมีการจัดการจัดการฟาร์มแบบอัจฉริยะ ทั้งการใช้เครื่องจักรรีดนมแพะแบบอัตโนมัติ มีการใช้ปลอกคอวัวนมอัจฉริยะ ที่สั่งการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยนิวซีแลนด์ ได้คิดค้นนวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า ซึ่งกรมปศุสัตว์จะนำแนวคิดมาประยุกต์ใช้ตามบริบทของเกษตรกรไทยต่อไป ตลอดจนพบปะผู้ประกอบการผลิตสินค้าชาอินทรีย์แห่งแรกของนิวซีแลนด์ ที่มีแนวคิดการตลาดแบบเชิงรุกที่มุ่งเน้นการตลาดที่นิยมชาระดับพรีเมี่ยม สร้างแบรนด์จากรางวัลคุณภาพระดับสากล ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินสามารถนำโมเดลการตลาดมาประยุกต์ให้ประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าร่วมงานแสดงนวัตกรรมทางการเกษตร (Fieldays 2024) ณ เมืองแฮมิลตัล ซึ่งมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการผลิตสินค้าเกษตร โดยการเดินทางเยือนนิวซีแลนด์ในครั้งนี้ นอกจากช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและนิวแลนด์ ทั้งในระดับรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนขยายโอกาสทางการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนที่จะเดินหน้าผลักดันด้านการเปิดตลาดส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปนิวซีแลนด์ โดยประสานงานกับ นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ อย่างใกล้ชิดต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated