กรมประมง...เปิดเวทีประชุมเสวนา โชว์ผลสัมฤทธิ์ โครงการขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยง “ปลิงขาว” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์
“ปลิงขาว” สู่การผลิตเชิงพาณิชย์

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงนาคาเฟ่ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง มอบหมายให้ นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาในหัวข้อ “ผลสัมฤทธิ์โครงการขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยงปลิงขาวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์” หลังวิจัยและพัฒนารูปแบบการเลี้ยงจนสำเร็จ หนุนสร้างเครือข่ายและขยายผลการเพาะเลี้ยงให้เกษตรกรในวงกว้าง เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจร้านอาหาร-โรงแรมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงมีนโยบายในการพัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสำหรับทดแทนการจับจากธรรมชาติ ซึ่งนับวันมีปริมาณลดน้อยลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาครัฐยกระดับสินค้าภาคเกษตรและประมงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรไทย

“ปลิงขาว” (Holothuria scabra) จัดเป็นหนึ่งในชนิดของปลิงทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีนและคอลลาเจน จึงนิยมนำมาปรุงอาหารบริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม สำหรับประเทศไทยมีการจับปลิงขาวจากธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมาก ทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งแม้กรมประมงจะสามารถเพาะพันธุ์ได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เพื่อปล่อยเพิ่มปริมาณในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ประโยชน์ จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งเสริมให้เกิดการประกอบอาชีพ พร้อมขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยงสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งได้รับการอุดหนุนทุนวิจัย จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. 

นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง กล่าวว่า สำหรับการประชุมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ผลสัมฤทธิ์โครงการขยายผลเทคนิคการอนุบาลและการเลี้ยงปลิงขาวสู่การผลิตเชิงพาณิชย์” ที่จัดในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่กรมประมงได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงสู่การประกอบอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย พังงา กระบี่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่

หลักสูตรที่ 1 เทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงขาวระยะว่ายน้ำ (auricularia) ในโรงเพาะฟัก มีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 2 ราย ฝึกอบรมเมื่อวันที่ 21-25 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา

หลักสูตรที่ 2 เทคนิคการอนุบาลลูกปลิงขาวระยะก่อนลงเกาะ (doliolaria) จนได้ปลิงขาวระยะวัยรุ่นในโรงเพาะฟัก มีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 10 ราย ฝึกอบรมเมื่อวันที่ 20-22 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และคุ้มชาวเกาะ ฟาร์มแอนด์การ์เด้นท์ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

หลักสูตรที่ 3 เทคนิคการเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดินมีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวน 15 ราย ฝึกอบรมเมื่อวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และคุ้มชาวเกาะ ฟาร์มแอนด์การ์เด้นท์ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

ซึ่งหลังการฝึกอบรมดังกล่าว กรมประมงได้ติดตามผลการเพาะพันธุ์ อนุบาล และเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดินของเกษตรกรที่เข้ารับการถ่ายทอดความรู้แต่ละหลักสูตร ปรากฏว่า หลักสูตรที่ 1 มีเกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลิงขาวได้ จำนวน 1 ราย หลักสูตรที่ 2 มีเกษตรกรสามารถอนุบาลลูกปลิงขาวจากระยะก่อนลงเกาะ จนได้ลูกปลิงขาวระยะวัยรุ่น จำนวน 5 ราย และ หลักสูตรที่ 3 มีเกษตรกรสามารถเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดิน จนได้ปลิงขาวน้ำหนัก 100-300 กรัม จำนวน 8 ราย

สำหรับการประชุมเสวนาฯ มีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ การสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาของกรมประมง การนำเสนอผลสำเร็จจากตัวแทนเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ และแนวทางการตลาดปลิงขาวในอนาคตจากผู้รับซื้อผลผลิตปลิงขาว รวมถึงการนำเสนอนิทรรศการการเพาะเลี้ยงปลิงขาว

การจัดแสดงเมนูอาหารจากปลิงขาว ได้แก่ ปลิงขาวน้ำแดง และโรตีแกงปลิงขาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้เยี่ยมชมถังอนุบาลปลิงขาว และบ่อดินเลี้ยงปลิงขาวด้วย

ทั้งนี้ จากผลสำเร็จของโครงการฯ กรมประมงจึงได้จัดการประชุมเสวนาผลสัมฤทธิ์โครงการฯ ขึ้นเพื่อให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในโครงการฯ ได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และนำแนวทางการดำเนินการเพาะพันธุ์ อนุบาล และเลี้ยงปลิงขาวในบ่อดินมาต่อยอด เพื่อสร้างเครือข่ายและขยายผลความสำเร็จของการเพาะเลี้ยงปลิงขาวสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ในวงกว้างต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเกษตรกรไทย จะสามารถเร่งผลักดันให้เกิดการขยายผลการเลี้ยงปลิงขาวสู่เกษตรกรในเชิงพาณิชย์ได้ในไม่ช้า ซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้มากยิ่งขึ้น และส่งผลให้ “ปลิงขาว” ขึ้นแท่นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ในอนาคตได้อย่างแน่นอน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated