กรมวิชาการเกษตรโชว์เทคโนโลยีผลิตพืชผักด้วยระบบรางแคบในโรงเรือน

นายมะนิต สารุณา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการนำเทคโนโลยีการผลิตผักรางแคบมาปลูกในโรงเรือนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตพืชผัก จึงได้ร่วมกับทีมงานพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตพืชในระบบรางแคบในโรงเรือน เพื่อศึกษาวัสดุปลูกและรอบการเก็บเกี่ยวในการผลิตพืชระบบรางแคบในโรงเรือนในการผลิตพืชผัก ได้แก่ โหระพา และสะระแหน่ ที่สามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกรได้ รวมถึงจัดทำแปลงต้นแบบเพื่อขยายผลเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชระบบรางแคบในโรงเรือนให้กับเกษตรกร โดยนำเทคโนโลยีการผลิตผักรางแคบในโรงเรือนมาใช้ในพื้นที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม จังหวัดนครพนม ภายในโรงเรือนมีขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 24 เมตร ใช้รางแคบกว้าง 4 เซนติเมตร ลึก 5 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร วางบนโต๊ะสูง 1.20 เมตร

การผลิตโหระพาและสะระแหน่ในรางแคบ วัสดุที่ใช้ในการปลูกการโหระพาในรางปลูก ประกอบด้วย พีทมอส ขุยมะพร้าว แกลบดิบ ทราย ปุ๋ยหมักมูลโคแห้ง และแกลบดำ อัตราส่วน 2:3:1:1:1:1 ส่วนการผลิตสะระแหน่ในรางแคบ วัสดุที่ใช้ในการปลูกผักรางแคบ คือ ขุยมะพร้าว : แกลบดิบ : ทราย : แกลบดำ อัตรา 12 : 4 : 3 : 1 ปริมาณการใช้วัสดุปลูกจะอยู่ที่ 50 ลิตรต่อ 1 ตารางเมตร หรือ 50 ลิตรต่อ 5 รางปลูก ใช้ระยะปลูก 10X10 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ตารางเมตร สามารถปลูกได้ 195 ต้น

การให้น้ำและปุ๋ยเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ ใช้เทปน้ำหยด 10 เซนติเมตร วางพาดบนรางแคบ โดยให้ปุ๋ย AB อัตรา 4 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร จะให้ 5 วันต่อสัปดาห์ และ 2 ครั้งต่อวัน อัตรา 3 ลิตรต่อตารางเมตร และตามด้วยน้ำสะอาด 2 ลิตรต่อตารางเมตร ส่วนอีก 2 วันจะให้น้ำเพียงอย่างเดียวจำนวน 2 ครั้ง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ส่วนใหญ่สะระแหน่ในโรงเรือนจะพบศัตรูพืช ได้แก่ หนอนกระทู้ เพลี้ยอ่อน สามารถกำจัดได้โดยพ่นชีวภัณฑ์ BT อัตรา 80 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นต่อเนื่องทุก 7 วัน และใช้แมลงตัวห้ำในการกำจัดหนอน

นายมะนิต กล่าวว่า ประสิทธิภาพการผลิตโหระพาและสะระแหน่ระบบรางแคบในโรงเรือนให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ค่อนข้างสูง ซึ่งจำนวนการไว้ตอเพื่อเพิ่มรอบการเก็บเกี่ยวในการผลิตโหระพาและสะระแหน่ระบบรางแคบในโรงเรือนไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มรอบในการเก็บเกี่ยว แต่เพิ่มน้ำหนักของผลผลิตส่งผลให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูงขึ้นด้วย ถือเป็นใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจากการทดลองปลูกโหระพา สามารถไว้ตอในเพิ่มรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด 10 ครั้งต่อรอบการปลูก โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกหลังย้ายปลูกต้นโหระพา 30 วัน และเก็บเกี่ยวหลังจากครั้งแรกทุก 15 วัน ส่วนการทดลองในสะระแหน่ สามารถเก็บผลผลิตได้ 10 ครั้งต่อรอบปลูก ในครั้งแรกจะเก็บเกี่ยว 30 วัน หลังปลูก และครั้งต่อไปทุก 20 วันหลังปลูก หรือตามขนาดความเหมาะสมของพืชในรางปลูก โดยมีต้นทุน การผลิตต่อ 2 ตารางเมตรเท่ากับ 150 บาท หรือคิดเป็น 4,800 บาทต่อโรงเรือน

น้ำหนักผลผลิตโหระพาต่อ 2 ตารางเมตรอยู่ที่ 29.67 กิโลกรัม ในขณะที่ต้นทุนการผลิตต่อ 2 ตารางเมตร 150 บาท ต้นทุนในการผลิตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้ หากคิดผลผลิตต่อโรงเรือนพบว่าสามารถขายผลผลิตได้ 29,830 – 40,680 บาท กำไรต่อโรงเรือนจะอยู่ระหว่าง 25,030 – 35,880 บาท สำหรับน้ำหนักผลผลิตของสะระแหน่ที่ปลูกในระบบรางแคบ จากการทดลอง พบว่า ผลรวมค่าเฉลี่ยน้ำหนักของผลผลิตที่เก็บเกี่ยวทั้งหมด 10 ครั้ง ได้ 7.52 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เมื่อคิดเป็นผลผลิตต่อโรงเรือนจะได้ 481.28 กิโลกรัมต่อโรงเรือน รายได้ 300.8 บาทต่อตารางเมตร หรือคิดเป็น 19,251.2 บาทต่อโรงเรือน

“ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานและให้ความสนใจการผลิตผักรางแคบในโรงเรือนจำนวนมาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบรางแคบให้แก่เกษตรกรผู้ที่สนใจ พร้อมทั้งสร้างแปลงต้นแบบในพื้นที่จังหวัดนครพนม สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกพืชในระบบรางแคบ ช่วยลดวัสดุปลูก ประหยัดน้ำและปุ๋ย ประหยัดพื้นที่ ลดการใช้สารเคมี และต้นทุนการผลิต เพื่อขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นๆ หรือกลุ่มอื่นๆต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม โทรศัพท์ 0-4253-2586” นายมะนิต กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated