กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับผู้ส่งออก “พีแอนด์เอฟ” จัดหลักสูตรพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมทองสู่ญี่ปุ่น

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นเตอร์พอยท์ เทอร์มินอล 21 โคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ได้จัดงานสัมมนา หลักสูตร “การพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมทองสู่ตลาดต่างประเทศ” เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และส่งเสริมด้านการตลาดกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ให้กับเจ้าหน้าที่สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง ประมาณ 200 คน และยังถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Meeting โดยมี นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานกล่าวเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ และมี นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย เป็นผู้กล่าวรายงาน

การสัมมนาเริ่มต้นขึ้น ด้วยการบรรยายเรื่อง สถานการณ์การผลิตและส่งออกผลไม้ไทย โดย นางสาวเพ็ญระพี ทองอินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ผล รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น และยางพารา ต่อด้วยเรื่อง การจัดการคุณภาพกล้วยหอมทองส่งออก โดย นายเอกพล ภูวนารถนฤบาล ศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ถัดจากนั้นก็เป็นการบรรยายเรื่อง โรคแมลงที่สำคัญในกล้วยหอมทองกับการป้องกันกำจัด โดย นางสาวสัญญาณี ศรีคชา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

เกษตรก้าวไกล LIVE – โรค แมลง ที่สำคัญในกล้วยหอมทอง โดย คุณสัญญาณี ศรีคชา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร คลิก https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/2424644687925482

ภาคบ่าย เป็นการบรรยายเรื่อง บทบาทของ ธ.ก.ส. ต่อการส่งออกกล้วยหอมทองไทย โดย นายวิชัย ปักษา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปิดท้ายด้วยการบรรยายเรื่อง สถานการณ์กล้วยหอมทองในตลาดต่างประเทศ โดย นางพิมใจ มัตสึโมโต ผู้นำเข้ากล้วยหอมทอง ในนาม บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงนาม MOU ซื้อขายกล้วยหอมทองปีละ 5,000 ตัน กับ บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด

นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผอ.กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินและปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าการสัมมนาในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างการรับรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการผลิตกล้วยหอมทองที่ได้มาตรฐานในการส่งออกไปต่างประเทศให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองรวมถึงเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่มีการปลูกกล้วยหอมทองได้รับรู้ ได้มีความรู้ในการผลิตกล้วยหอมทองที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

สำหรับบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ผ่านมาจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่จะผลิตกล้วยหอมทอง มีคุณภาพได้มาตรฐานให้ตรงกับความต้องการของประเทศปลายทางที่ต้องการ รวมถึงผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในระหว่างเกษตรกร เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน

นางสมพิส ทองดีนอก เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ภาพรวมของการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านไร่ พืชหลักที่เป็นพืชเศรษฐกิจ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นยังมีการส่งเสริมการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กล้วยหอมทอง เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น

ปัจจุบันพื้นที่ส่งเสริมปลูกกล้วยหอมทองเพื่อส่งออก ในระบบแปลงใหญ่ที่มีการขึ้นทะเบียน มีประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งจะมีเกษตรกรต้นแบบอยู่ที่ บริษัทแปลงใหญ่สุไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกอยู่ 74 ครัวเรือน พื้นที่อยู่รวมที่ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะมีองค์ความรู้ในเรื่องของการปลูกกล้วยหอมทองให้ได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานการส่งออก ปัจจุบันมีการส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรมากกว่า 100 ล้านบาท/ปี ถือว่าเป็นเกษตรมูลค่าสูงที่ได้มีการส่งเสริม และขยายผลไปในพื้นที่อื่น อาทิ อำเภอหนองบุญมาก อำเภอครบุรี รวมทั้งพื้นที่ที่มีระบบน้ำ และสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยหอมทอง

เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อว่า สำหรับงานสัมมนาในวันนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตกล้วยหอมทองสู่ต่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเราจะได้รู้ว่าต่างประเทศมีความต้องการผลผลิตแบบไหน เช่น ความแก่ ความอ่อน วิธีการผลิต และเรื่องของมาตรฐานในการส่งออก เป็นการเรียนรู้เรื่องของ การใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เมื่อรู้เรื่องของการตลาดแล้ว การผลิตก็จะง่ายขึ้นเพราะมีทิศทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ผลผลิตออกมาได้ตรงความต้องการของตลาด การซื้อขายก็จะราบรื่น รายได้ที่เกษตรกรได้รับก็จะทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข รวมไปถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย

นางพิมใจ มัตสึโมโต กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีแอนด์ เทคโน จำกัด ในฐานะผู้รับซื้อกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า กล้วยหอมทองจากประเทศไทยถือว่าเป็นที่นิยมอย่างมากของชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการลงนาม MOU จำนวน 5000 ตัน เมื่อปลายปี 2566 จากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้รับโควต้าส่งออกญี่ปุ่นปีละ 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมาทำได้เพียง 3,000 ตัน ตนในฐานะผู้ลงนาม MOU รับซื้อเพื่อการส่งออก จึงยังมีความกังวลว่าเราจะมีปริมาณกล้วยหอมทองไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร จัดงานสัมมนาหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมทองสู่ตลาดต่างประเทศขึ้น เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร และต้องการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

ในขณะเดียวกันจากที่ได้ทำตลาดกล้วยหอมทอง พบว่าทางผู้บริโภคญี่ปุ่นยังนิยมบริโภคกล้วยคาเวนดิช หรือ “กล้วยหอมเขียว” มากถึง 1 ล้านตัน/ปี ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดว่าหากภาครัฐมีการเจรจาเพื่อขอโควต้าในการส่งออกเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะปลูกกล้วยหอมเขียวเพื่อส่งออก โดยกล้วยหอมทองจะเน้นตลาดพรีเมี่ยม ส่วนกล้วยหอมเขียวจะเป็นตลาดทั่วไป โดยวางเป้าหมายไว้ภายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้า อยากนำพาผลผลิตจากประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นให้ได้ 1 แสนตัน

“ที่ผ่านมาบ้านเรามีการปลูกกล้วยหอมเขียวแล้ว แต่ผู้รับซื้อกลับไม่มารับซื้อจริงตามที่ได้มาส่งเสริมไว้ แต่สำหรับบริษัทเราหากทำถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของเราแล้ว รับประกันได้ว่าเรารับซื้อจริงตามข้อตกลง ส่วนทางด้านการส่งเสริมของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เราต้องการเห็นการสนับสนุนอย่างจริงจัง แต่ไม่ต้องถึงขั้นแจกหน่อพันธุ์ฟรี เพราะการได้มาแบบฟรีๆ เขาจะไม่เห็นคุณค่า อยากให้สนับสนุนเกษตรกรในรูปแบบจำหน่ายในราคายุติธรรม พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน คอยแนะนำให้ความรู้ด้านการผลผลิตอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การปลูกไปตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายให้กับผู้รับซื้อ”

กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีแอนด์ เทคโน จำกัด ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับเกษตรกรที่ทำสัญญาซื้อขายกับทางบริษัท อยากให้มีการทำ “ประกันภัย” เพราะหากเกิดภัยจากธรรมชาติเกษตรกรจะได้มีทุนที่ได้จากเงินประกันมาฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เพราะการทำสัญญาซื้อขายเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นไปแล้วจะต้องมีผลผลิตส่งไปตามที่ทำสัญญาไว้ เพราะผู้ส่งออกเองก็กังวลว่าหากเกษตรกรประสบกับภัยทางธรรมชาติแล้ว หากรอการเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างเดียว แม้จะได้แต่อาจจะนำทุนมาฟื้นฟู และสร้างผลผลิตส่งไม่ทันตามกำหนด คือเรากลัวที่สุดคือผลผลิตขาดตลาด ซึ่งหากเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นเราอาจจะเสียเครดิต แล้วส่งผลให้เสียโควตาส่งออกไปด้วยก็ได้”

เกษตรก้าวไกล LIVE – สถานการณ์กล้วยหอมไทยในญี่ปุ่น โดย คุณพิมใจ มัตสึโมโต ผู้รับซื้อกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกประเทศญี่ปุ่น คลิก https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/995203541999407

ด้าน นายวิชัย ปักษา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ข้อมูลว่า ธ.กส.ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในเรื่องของสินเชื่อในเรื่องของการเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบันเรามองว่าการเกษตรที่อยู่ในประเทศตลาดอาจจะไม่เพียงพอแล้ว ดังนั้นเราจึงมองในเรื่องของการหาโอกาสให้กับเกษตรกรได้มีการส่งผลผลิตออกต่างประเทศด้วย ภายใต้แนวนโยบายที่ว่า ธ.ก.ส. จะวางบทบาทเป็นแกนกลางทางด้านการเกษตร นั่นหมายถึงว่าในกิจกรรม หรือว่าทุกสิ่งที่มันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเกษตร ธ.ก.ส.จะเข้าไปอยู่ในในทุกส่วน และร่วมมือกับส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้ในเชิงวิธีการรวมถึงวิชาการ ซึ่งอันนี้ผมว่ามันเป็นพื้นฐานที่เกษตรกรควรจะได้เรียนรู้ นอกจากนั้นในเรื่องของการส่งออกเราก็ได้รับความมั่นใจจากผู้ที่ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะกล้วยหอมที่จะส่งออกไปญี่ปุ่น…”

“ผมมองว่าเทคนิคในเรื่องของการผลิตบวกกับการตลาด อันนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญจริง ๆ ที่จะทำให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในเรื่องของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับในส่วนที่ ธ.ก.ส. อยากจะเพิ่มเติมก็คือ เมื่อเกษตรกรมีความมั่นใจเพียงพอ ธ.ก.ส.ก็พร้อมจะเติมเต็มในส่วนของสินเชื่อที่เกษตรกรอาจจะยังมีไม่เพียงพอ ธ.ก.ส.ยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของเกษตรกรไทย” นายวิชัย ปักษา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated