กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่นำร่อง ยกระดับและต่อยอด 5 กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ สู่การผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงวางเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง
นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า พื้นที่การเกษตรของจังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเป็นหลัก สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรได้ขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อรวมกันผลิต รวมกันจำหน่าย ตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรที่ประกอบอาชีพเดียว พื้นที่เดียวกัน รวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ มีสำนักงานเกษตรอำเภอเป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการสวน การเก็บเกี่ยว การตลาด การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อบูรณาการช่วยเหลือเกษตรกรตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ขายผลผลิตที่มีคุณภาพให้ได้ราคาสูง จนถึงปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีแปลงใหญ่ จำนวน 154 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่ลดลง เกษตรกรมีความรู้ ความชำนาญในการประกอบอาชีพมากขึ้นและมีการแลกเปลี่ยน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญมีอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาที่เป็นธรรม โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำคือการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือด้านการตลาด ที่จะต้องคัดเกรดคุณภาพของผลผลิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูง โดยเฉพาะทุเรียน ขณะนี้ในจังหวัดชุมพรมีล้งรับซื้อผลผลิตมากกว่า 300 แห่ง ซึ่งผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มีคุณภาพทำให้จำหน่ายได้ราคาสูง ส่วนมังคุด ถือว่าเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มีความเข้มแข็งมาก มีเครือข่าย 28 เครือข่าย มีการจำหน่ายผลผลิตใสนรูปแบบประมูล ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบด้านราคาจำหน่ายผลผลิต และได้ราคาสูงตามเกรดของสินค้า รวมไปถึงกล้วยหอมทอง ที่เป็นผลผลิตจากแปลงใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาดประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดชุมพรปีละหลายล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดยังเข้าไปสนับสนุนต่อยอดเพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตที่ตกเกรดส่งออกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย
โดยในพื้นที่จังหวัดชุมพรได้นำร่องสินค้าเกษตร 3 ชนิด ใน 5 กลุ่มแปลงใหญ่ ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คือ ทุเรียน จากแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 12 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งมีจุดเด่นในด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก และแปลงใหญ่ทุเรียน บ้านห้วยทรายขาว ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กลุ่มนี้ก็มีจุดเด่นในการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก
มังคุด จากแปลงใหญ่มังคุด (วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมังคุดบ้านพะโต๊ะ) หมู่ที่ 8 ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่ผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก โดยมีวิธีการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกจำหน่ายให้ผู้ประกอบการผ่านระบบประมูล และแปลงใหญ่มังคุด ตำบลละแม อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่ผลิตมังคุดคุณภาพเพื่อการส่งออก โดยมีการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกจำหน่ายให้ผู้ประกอบการผ่านระบบประมูล
กล้วยหอม จากแปลงใหญ่กล้วยหอม ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่ผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพเพื่อการส่งออก ที่รวบรวมผลผลิตของสมาชิกมาคัดบรรจุส่งขายประเทศญี่ปุ่น
“แปลงใหญ่ทั้ง 5 กลุ่มนี้ มีความเข้มแข็งจากการขับเคลื่อนในโครงการเกษตรแปลงใหญ่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด
และกล้วยหอมทอง ที่เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของจังหวัดชุมพร นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร อยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) ในพืชทุเรียน ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญของทุเรียนจังหวัดชุมพร คือมีรสชาติหวาน มัน กรอบอร่อย และพืชกล้วยหอมทอง ซึ่งมีจุดเด่น เมื่อสุกจะมีน้ำในผลน้อย รสชาติหวานหอม อมเปรี้ยวเล็กน้อย มีผลขนาดกลางถึงใหญ่ เนื้อแน่น หน้าตัดเหลี่ยม ขั้วเหนียว เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น โดยหวังจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าให้กับเกษตรกรของจังหวัดชุมพร รวมทั้งในปีงบประมาณ 2568 ก็มีเป้าหมายที่จะต่อยอดผลักดันเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม ให้ครบ 8 อำเภอของจังหวัดชุมพร (อำเภอละ 1 กลุ่ม) อีกด้วย” นายสุบรรณ์ กล่าว
นายณรงค์ ช้างชนะ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านห้วยทรายขาว ตำบลหาดยาย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า แปลงใหญ่ทุเรียนบ้านห้วยทรายขาว เป็นกลุ่มที่ผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐานส่งออก โดยการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งสภาพการปลูกทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยทรายขาวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา ในอดีตต่างคนต่างปลูก ต่างขาย จึงมักจะประสบปัญหาด้านผลผลิตที่มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ มีต้นทุนการผลิตสูง และเมื่อถึงเวลาจำหน่ายผลผลิตก็มักถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่เท่ากัน ต่อมาสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรและสำนักงานเกษตรอำเภอหลังสวน เข้ามาส่งเสริมให้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อความสะดวกต่อการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ช่วยกันวางแผนจัดการระบบการผลิต และการตลาด โดยเริ่มเข้าสู่โครงการมาตั้งแต่ปี 2562 สมาชิกเริ่มต้นจำนวนกว่า 40 คน และได้ขยายเรื่อยมาจนปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 84 คน พื้นที่ 1,688 ไร่
“นอกจากเรื่องของการสนับสนุนองค์ความรู้ ทั้งการบริหารจัดการกลุ่ม การปลูกทุเรียน แนวทางการลดต้นทุนการผลิต เช่น สอนการทำปุ๋ยหมักใช้เองเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สอนการผสมปุ๋ยใช้เองตามความต้องการของพืช จัดอบรมการผลิตชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อใช้ป้องกันกำจัดโรคทุเรียน ยังได้จัดหาอุปกรณ์เพื่อลำเลียงทุเรียนลงมาจากบนเขา ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพรและสำนักงานเกษตรอำเภอหลังสวนก็ยังเข้ามาช่วยพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการคัดเกรดทุเรียน การจัดทำบรรจุภัณฑ์สำหรับจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ทุเรียนของกลุ่มเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานส่งออกและมีบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นสินค้า 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูงของจังหวัดชุมพรอีกด้วย” นายณรงค์ กล่าว
นายณรงค์ กล่าวต่อว่า ทุเรียนบ้านห้วยทรายขาว ปลูกบนที่ลาดเชิงเขา มีเอกลักษณ์หลายด้านมีรสชาติที่อร่อย หวาน มัน เนื้อกรอบนอกนุ่มใน แต่ในด้านของการผลิต จะมีความได้เปรียบจากทุเรียนที่ปลูกด้านล่าง คือ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช้ากว่าทุเรียนที่ปลูกด้านล่างอย่างน้อย 1-2 เดือน เป็นทุเรียนนอกฤดูโดยธรรมชาติ อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่อยู่บนเขามีความชื้น จึงมีผลต่อการออกดอกของทุเรียน โดยปัจจุบัน กลุ่มจะมีผลผลิตเฉลี่ย 3-4 พันตันต่อปี ส่วนใหญ่จะมีล้งมารับซื้อถึงสวนโดยตรง ซึ่งทางกลุ่มจะบริหารจัดการและเป็นสื่อกลางประสานงานระหว่างสมาชิกและล้ง เพื่อให้จำหน่ายได้ในราคาเดียวกันและเป็นธรรม บางส่วนก็เปิดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน และขณะนี้กำลังศึกษาเพื่อทำโครงการเสนอหน่วยงานภาครัฐ ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำทุเรียนแช่แข็งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
“ความเปลี่ยนแปลงที่เกษตรกรได้จากการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ อันดับแรกคือความสามัคคี เป็นน้ำหนี่ง ใจเดียวกัน มีการประกอบอาชีพไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขายผลผลิต และสามารถต่อยอดด้านคุณภาพ มาตรฐานของผลผลิต การแปรรูปสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเชื่อมโยงการตลาด ที่สามารถต่อรองในราคาที่เป็นธรรมได้ โดยทางกลุ่มจะทำหน้าที่ประสานล้งมารับซื้อผลผลิตของสมาชิกถึงสวน ส่งผลให้เกิดจุดรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน” นายณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย