มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ปลูกในประเทศ เพื่อพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชที่มีศักยภาพสูง มาพัฒนาต่อยอดด้านการเกษตรได้ในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจีจำกัด โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. พร้อมด้วย นายรัตติกูล ปิยะวงค์วาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ร่วมลงนาม ณ ห้องพระรามราชานุสรณ์ ชั้น 3 สำนักงาน กปร. กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

ความร่วมมือ ด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว เพื่อนำพลังงานความเย็นที่ได้จากกระบวนการเปลี่ยนสถานะของก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG : ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพโดยการลดอุณหภูมิเหลือ -๑๖๐°C จนกลายเป็นของเหลว) โดยนำความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรสภาพของ LNG (REGASFICATION PROCESS) มาใช้ในระบบการผลิตไม้ดอกและพืชเมืองหนาว เพื่อพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชที่มีศักยภาพสูง มาพัฒนาต่อยอดด้านการเกษตร โดยนำมาทดลองใช้ในโรงเรือนผลิตพืช แบบ smart farming เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ในครั้งนี้ นับเป็นระยะที่ 3 (เริ่ม ปี 2567—2570) จะเป็นการสานต่อความร่วมมือเพื่อพัฒนาต่อยอดความร่วมมือ และสนับสนุนด้านการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ประโยชน์ของความเย็นเหลือทิ้งจากสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตพืชเมืองหนาว จากการนำนวัตกรรมนี้มาพัฒนาภาคเกษตรกรรมของประเทศให้สามารถผลิตพืชเกษตรที่มีมูลค่าสูง สามารถต่อยอดสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในตลาดไม้เมืองหนาวได้อย่างเข้มแข็ง

