นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดชัยภูมิเป็นแหล่งผลิตส้มโอที่สำคัญ มีเนื้อที่ปลูกมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566) พบว่า มีเนื้อที่ปลูก จำนวน 4,640 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 65.98 ของเนื้อที่ปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส้มโอเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพด้านการผลิตและสร้างมูลค่าให้กับจังหวัด โดยแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่อำเภอบ้านแท่น มีเนื้อที่ปลูก จำนวน 2,937 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.30 ของเนื้อที่ปลูกในจังหวัดชัยภูมิ พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์ทองดี มีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพู ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) เมื่อปี 2562 จำหน่ายภายใต้ชื่อ ส้มโอทองดีบ้านแท่น ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของสินค้า โดยจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดชัยภูมิ 45 ล้านบาท/ปี

จังหวัดชัยภูมิได้คัดเลือกส้มโอทองดีบ้านแท่นให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออกของอำเภอบ้านแท่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมีการจัดงานเทศกาลส้มโอหวานบ้านแท่นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ส้มโอทองดีบ้านแท่น ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่ง สศท.5 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตส้มโอทองดีบ้านแท่นในพื้นที่อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 475 ราย ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI 89 ราย มีการปลูกส้มโอเฉลี่ยครัวเรือนละ 35 ต้น/ไร่ โดยส้มโอจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ซึ่งผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม สำหรับสถานการณ์การผลิต ปี 2566 ได้ผลผลิตรวม 680 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,500 – 1,600 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ 25 – 35 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 55 จำหน่ายให้ผู้รวบรวมรายใหญ่ต่างจังหวัด รองลงมาผลผลิตร้อยละ 19 จำหน่ายให้กับผู้ค้าปลีกต่างจังหวัด ผลผลิตร้อยละ 18 จำหน่ายให้ผู้ค้าปลีกภายในจังหวัด และห้างสรรพสินค้า Makro และผลผลิตร้อยละ 8 จำหน่ายตรงให้ผู้บริโภคผ่านหน้าร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์ของเกษตรกร

“การปลูกส้มโอมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เกษตรกรต้องใช้เวลาในการดูแลและบำรุงรักษาหลายปี จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง องค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกส้มโอ การรวมกลุ่ม ทั้งแบบกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มแปลงใหญ่ ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายในกลุ่ม รวมทั้งร่วมกันวางแผน การจำหน่ายผลผลิตร่วมกันทั้งจำนวนผลผลิต การกระจายผลผลิต และราคาที่จำหน่าย และยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด ได้ราคาดี สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าว สศท.5 ได้นำข้อมูลไปจัดทำเป็นงานวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เรื่อง การผลิตและการตลาดส้มโอทองดีบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการส้มโอในจังหวัดชัยภูมิให้มีประสิทธิภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์และวางแผนการบริหารจัดการ ซึ่งจะเผยแพร่สู่สาธารณชนในโอกาสต่อไป หากท่านใดสนใจข้อมูลผลการสำรวจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 ได้ที่ 0 4446 5079 หรืออีเมล zone5@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated