นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ เข้าร่วมงาน “กระบี่ อันดามัน ฮาลาล เฟสติวัล” ประจำปี 2567 ณ มัสยิดกลางจังหวัดกระบี่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถและเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลของไทยสู่ตลาด ฮาลาลโลก รวมทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิชาการปศุสัตว์ฮาลาล โดยเปิดบริการให้คำปรึกษาด้านหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อกำหนดในการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศคู่ค้าอิสลาม

โดยในงานนี้ กรมปศุสัตว์ ได้เตรียมเข้าร่วมจัดนิทรรศการในแนวคิด “ปศุสัตว์ฮาลาล ครบวงจร ท่องเที่ยวอย่างมั่นใจ เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน” และถ่ายถอดความรู้พิเศษ “กระบวนการผลิตเนื้อแพะฮาลาลตามมาตรฐานประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง” เริ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำของการผลิตเนื้อสัตว์ผ่านการกำกับดูแลด้านมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ โดยกรมฯได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุกตามนโยบายรัฐบาลลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา ความทุกข์ร้อนของชาวบ้านเกษตรกร ในการยกระดับให้เกิดศูนย์กลางอาหารฮาลาลสู่ครัวโลก มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและยกระดับธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ กรมปศุสัตว์จึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านปศุสัตว์ โดยร่วมมือในการตรวจรับรองโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ได้มาตรฐานอาหารฮาลาล เสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

งานกระบี่ อันดามัน ฮาลาล เฟสติวัล ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2567 ณ มัสยิดกลางจังหวัดกระบี่ ท่านจะได้รับความรู้หลากหลาย กิจกรรมแสดงนิทรรศการภาครัฐและภาคเอกชน – กิจกรรมการจำหน่ายสินค้าฮาลาล – กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ – กิจกรรมโดยอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ – กิจกรรมรับสมัครสมาชิกชมรมฮาลาล – กิจกรรมให้คำปรึกษาการขอใบอนุญาตฮาลาล – กิจกรรมบรรยาย – กิจกรรมสันทนาการบนเวที -กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเทศไทยกับมาเลเซีย – กิจกรรมโดยสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่, เกษตรจังหวัดกระบี่ -กิจกรรมการเงินฮาลาลโดยสหกรณ์อิสลามจังหวัดกระบี่ -กิจกรรมการธนาคารฮาลาล โดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

วันที่ 31 กรกฎาคม มีปาฐกถาพิเศษจากพลตำรวจตรีสุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในหัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือการพัฒนาและส่งเสริมกิจการ ฮาลาลอันดามัน” (ด้านวิชาการ เทคโนโลยี การผลิต การตลาด และ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ฮาลาล) ร่วมกับ 40 หน่วยงาน เพื่อร่างบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันในปี 2568

วันที่ 1 สิงหาคม มีเสวนาหัวข้อ “การพัฒนากลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยวกลุ่มวิถีชีวิตอิสลามในจังหวัดอันดามัน”

วันที่ 2 สิงหาคม มีบรรยายพิเศษเรื่อง “ธุรกิจฮาลาลกับสตรีมุสลิมเพื่อการสังคมสงเคราะห์”

สำหรับวันที่ 3 สิงหาคม มีกิจกรรมเสวนา หัวข้อเรื่อง “วิถีการเลี้ยงแพะฮาลาลแบบครบวงจรและการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน” ดำเนินการเสวนา โดยผู้แทนกรมปศุสัตว์

ปัจจุบันสินค้าปศุสัตว์ไทยหลายประเภท มีศักยภาพในการรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดฮาลาลได้เพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อโค-เนื้อแพะ ไข่ นม น้ำผึ้ง รังนก ไอศกรีม โยเกิร์ต เนย ชีส เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีก เป็นอันดับ 4 ของโลกสร้างมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท อีกทั้งสินค้าปศุสัตว์ฮาลาลไทยได้รับการยอมรับให้สามารถส่งออกไปยังประเทศอิสลามหลายประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ บาห์เรน คูเวต การ์ตา โอมาน มาเลเซีย และบรูไน เป็นต้น สำหรับผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถ เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการของกรมปศุสัตว์ ได้ที่ อาคารมัสยิดกลางจังหวัดกระบี่ 

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated