มะพร้าว ยังคงเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกโดยรวมทั้งประเทศ 862,718 ไร่ โดยให้ผลผลิตแล้วเนื้อที่ 834,000 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาด 842,306 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,010 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างมูลค่ากว่า 6,887 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดชุมพรเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ปลูกของจังหวัดชุมพร 97,155 ไร่ ผลผลิต 113,635 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,246 กิโลกรัมต่อไร่ มีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอสวี อำเภอหลังสวน
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การผลิตมะพร้าวให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาด จะต้องพัฒนาศักยภาพการผลิตและเสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพมะพร้าวชุมพรให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้เกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ร่วมกับหน่วยงานภาคีระดับท้องถิ่น ร่วมผลักดันให้เกษตรกรในโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สร้างมาตรฐานให้กับแปลงตนเอง ตั้งแต่การใช้ต้นพันธุ์ดี การดูแลบำรุงรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ รวมถึงกระบวนการส่งออกที่รักษาคุณภาพจนถึงผู้บริโภค แลได้รับมาตรฐาน GAP และมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus คือกระบวนการไม่ใช้แรงงานลิง จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไทยได้ ปัจจุบันจังหวัดชุมพรมีเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้รับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 186 แปลง จำนวน 158 ราย พื้นที่ 1,119.25 ไร่ และมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus จำนวน 163 แปลง จำนวน 135 ราย พื้นที่ 967.5 ไร่
สำหรับวิธีทดแทนหลักภูมิปัญญาชาวบ้านจากการใช้แรงงานลิงเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อป้องกันการร้องเรียนการใช้แรงงานสัตว์ และเป็นไปตามมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เสนอทางเลือกให้เกษตรกรหันมาใช้นวัตกรรมในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าวอย่าง เครื่องปีนต้นมะพร้าว หรืออุปกรณ์เก็บเกี่ยวมะพร้าวแบบต่อด้ามยาวถอดประกอบได้สำหรับการเก็บเกี่ยวมะพร้าวต้นสูง ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมสุราษฎร์ธานี
เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวตำบลบางสน อำเภอปะทิว เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวเพื่อที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขายผลผลิตในรูปผลสด ซึ่งผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้ในบางช่วงเวลาราคาผลผลิตจะต่ำและหยุดการรับซื้อ กลุ่มจึงได้ทำการแก้ไขผลผลิตที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ โดยทำการเลือกผลมะพร้าวต้นที่มีคุณภาพดีทำการเพาะพันธุ์ เพื่อสร้างมูลค่าแทนการปล่อยให้สูญเสียผลผลิตโดยไร้ประโยชน์ โดยใช้ชื่อว่าต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวแกง ตำบลบางสน ชายทะเลชุมพร ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 49 ราย มีพื้นที่ปลูก 450 ไร่
ทางกลุ่มได้สนับสนุนให้สมาชิกดำเนินการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตามคำแนะนำ และการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus จนปัจจุบันสมาชิกได้รับมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 45 ราย ได้รับมาตรฐาน IFOAM จำนวน 1 แปลง และมาตรฐาน GAP Monkey Free Plus แล้วจำนวน 30 ราย สามารถส่งขายไปยังต่างประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และนอกจากส่งผลสดขาย ทางกลุ่มยังมีการแปรรูปผลผลิตมะพร้าว โดยการผลิตมะพร้าวขาว น้ำมะพร้าวขายภายในประเทศ และอนาคตเพื่อต่อยอด และเพิ่มมูลค่าสินค้า จะนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคือ กะลามะพร้าว ผลิตเป็นถ่านกะลามะพร้าวและถ่านอัดแท่ง ผิวมะพร้าวดำและเศษเนื้อมะพร้าวเหลือจากการผลิตมะพร้าวขาวอบแห้ง ส่งโรงงานบีบสกัดน้ำมัน รวมถึงผลผลิตน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาถ่าน สร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกกลุ่มอีกทางหนึ่ง