คสคท. แถลง ค้านร่างกฎกระทรวงฯกำกับดูแลการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน

เครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย(คสคท.) ประกอบด้วย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย,ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย,ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย และตัวแทนออมทรัพย์ในระดับภาคทั้ง 4 มีมติร่วมกันขอให้ถอนร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน พ.ศ…ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากร่างกฎกระทรวงฯ นี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเข้มแข็งและมั่นคงของขบวนการสหกรณ์ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยใช้สหกรณ์เป็นฐานตามนโยบายรัฐบาล  และในขั้นตอนการยกร่างของกฎกระทรวงฯ ทางขบวนการสหกรณ์ได้ให้ความเห็นคัดค้านในหลายๆประเด็น แต่ภาครัฐไม่ได้นำไปปรับแก้ตามตามข้อเสนอ จนกระทั่งในที่สุดร่างกฎกระทรวงฯนี้ เตรียมบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

เครือข่ายสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านกฎกระทรวงฯและยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ  ในประเด็นที่สำคัญดังนี้ (1) งวดการชำระหนี้ เงินกู้ฉุกเฉิน ไม่เกิน 12 งวด ขอปรับแก้เป็น 36 งวด , เงินกู้สามัญ ไม่เกิน 150 งวด ปรับแก้เป็น 360 งวด, เงินกู้พิเศษ ไม่เกิน 360 งวด ปรับแก้เป็น 420 งวด เนื่องจากการขยายงวดเพิ่มขึ้น จะได้สอดคล้องกับสถานะทางการเงินของสหกรณ์ที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถให้การช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่สมาชิกสหกรณ์ ทั้งนี้ในการตราระเบียบเกี่ยวกับเงินกู้ของแต่กรณ์มีสหกรณ์จังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับ ส่งเสริมเป็นผู้อนุมัติระเบียบอยู่แล้ว รวมถึงการเพิ่มงวดจะไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงเพราะสหกรณ์กำหนดให้มีหลักประกันคุ้มรวมมูลหนี้เป็นขั้นต่ำ(2) อายุของสมาชิกผู้กู้ในการชำระหนี้ การให้มีระยะชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกิน 75 ปี ขอปรับแก้เป็นไม่เกิน 80 ปีเนื่องจากสมาชิกสหกรณ์มีรายได้จากบำนาญและสอดคล้องกับเกณฑ์อายุของผู้กู้ชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด (3) ผู้กู้ซึ่งมีรายได้รายเดือน จะต้องมีเงินเหลือสุทธิหลังหักชำระหนี้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการกำหนดเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อสมาชิกในการเข้าถึงจำนวนสินเชื่อที่สูงขึ้นและปิดกั้นโอกาสในการกู้ยืมเงินของสมาชิกเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์ รวมถึง เป็นอุปสรรคต่อการชำระหนี้ของสมาชิกส่วนหนึ่งที่ต้องการชำระหนี้ในอัตราที่สูงเพื่อจะได้หมดหนี้เร็วขึ้น (4) หลักประกันเงินกู้ที่ร่างกฎกระทรวงกำหนดว่า เงินกู้สามัญ ใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นหรือหลักทรัพย์ หรือใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นร่วมกับหลักทรัพย์ ขอปรับแก้เป็น ใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นหรือเงินฝากของสมาชิกผู้กู้ในสหกรณ์ หรือหลักทรัพย์ หรือใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นร่วมกับเงินฝากของสมาชิกผู้กู้ในสหกรณ์หรือ/และหลักทรัพย์ , เงินกู้พิเศษ ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน ขอปรับแก้เป็น ใช้สมาชิกสหกรณ์นั้นและเงินฝากของสมาชิกผู้กู้ในสหกรณ์ หรือ/และอสังหาริมทรัพรัพย์เป็นหลักประกัน เนื่องจาก 1) เงินฝากเป็นเงินของสมาชิกที่ทำธุรกรรมกับสหกรณ์ จะถอนเมื่อไหร่ก็ย่อมได้และสหกรณ์สามารถกำหนดเงื่อนไขในการรับฝากได้ จึงสามารถนำมาเป็นหลักประกันเงินกู้ได้โดยที่สามาชิกแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ และสำหรับเงินกู้พิเศษ กำหนดให้มีสมาชิกสหกรณ์นั้นและเงินฝากของสมาชิกผู้กู้ในสหกรณ์ หรือ/และอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน เพราะเงินกู้สามัญมีสมาชิก เงินฝากเป็นหลักประกัน ในการให้กู้ของสหกรณ์กำหนดให้สมาชิกกู้ได้ประเภทเดียว(5) สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยแบ่งตามขนาดของสหกรณ์ ขอปรับแก้เป็นสหกรณ์ทุกขนาดดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 1 เพราะ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องใช้จำนวนเงินฝากเป็นฐานมาคำนวณ จึงควรใช้อัตราเดียวกัน และเงินฝากสมาชิกในสหกรณ์มีประเภทออมทรัพย์ จำนวนเงินจะไม่มากเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำ, ส่วนประเภทออมทรัพย์พิเศษ สหกรณ์จะกำหนดเงื่อนไขเวลาและอัตราดอกเบี้ยไว้ในการรับฝาก การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated