สยามคูโบต้า มุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ เรียนรู้การเกษตรจากของจริงในแบบตัวเอง

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยการเรียนรู้ด้านการเกษตรผ่านการสัมผัสประสบการณ์จริง จากเกษตรกรตัวจริง บรรยากาศจริง เพื่อนำกลับไปต่อยอดพัฒนาวิถีการทำการเกษตรในชีวิตจริง กับแคมป์ “KUBOTA Smart Farmer Camp 2024” ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ภายใต้ชื่อตอน “Real-life Agri Journey” จากพื้นที่การเรียนรู้ สู่วิถีชีวิตจริง

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “สยามคูโบต้ามีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม โดยมุ่งเน้น “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นตามหลักการ Sustainable Development Goals หรือ SDGs 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาของเยาวชน ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม และ 1 ในโครงการที่สยามคูโบต้าได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 คือ โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และนวัตกรรมการเกษตรสู่เยาวชนรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างทัศนคติที่ดีและกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ใส่ใจการทำอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนตระหนักถึงการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรแม่นยำอย่างยั่งยืนและรอบด้านมากขึ้น เพื่อเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่ดีในอนาคต ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ทั้งสิ้น 920 คน”

สำหรับปีนี้ โครงการ KUBOTA Smart Farmer Camp 2024 ได้จัดขึ้นในชื่อตอน Real-life Agri Journey จากพื้นที่การเรียนรู้ สู่วิถีชีวิตจริง โดยคัดเลือกคนรุ่นใหม่กว่า 60 ชีวิต ที่มีความตั้งใจจะกลับไปพัฒนาหรือสานต่อเจตนารมณ์ของครอบครัวในการทำเกษตรกรรมเข้าร่วมโครงการ ร่วมสัมผัสกับการทำเกษตรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ผ่านการเรียนรู้จากเกษตรกรตัวจริง ในพื้นที่จริง และผู้มีประสบการณ์จริง พร้อมนำประสบการณ์กลับไปใช้พัฒนาวิถีการทำการเกษตรในแบบของตัวเอง โดยมีระยะเวลาในการเรียนรู้ 4 วันเต็ม ณ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า-หนองผักบุ้ง จ.เพชรบูรณ์

ไฮไลท์ของกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้สัมผัสกับกิจกรรม Real Life รับฟังองค์ความรู้จากผู้ประสบความสำเร็จด้านการเกษตร มาเล่าถึงชีวิตจริง ในจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นผู้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน โดย คุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา จากศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย ผู้เปลี่ยนแปลงธุรกิจพันธุ์ข้าวเปลือกครบวงจรสู่ “ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย” พร้อมเปิดโลกทัศน์ให้คนเห็นความสำคัญของ “ข้าว” และ “ชาวนา” Real Agri รับฟังประสบการณ์จริงในการทำการเกษตร โดย คุณหนึ่ง ธนากร ทองศักดิ์ เจ้าของ Believe Farm เพชรบูรณ์ วิศวกรหนุ่มที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร ปลูกพืชผักและมะเขือเทศหลากสีเพื่อสร้างรายได้เสริม เป็นตัวแทนในการส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ Real Journey เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรเชิงธุรกิจ โดย คุณไพโรจน์ คล้ายแก้ว ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาสินค้าท้องถิ่นและจริงใจฟาร์มเมอร์มาร์เก็ต คุณชัยพร หล้าต๋า เจ้าหน้าที่อาวุโสกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ คุณแม่หยวน หมื่นนาอาน คณะทำงานแปรรูปสินค้าเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกข้าวหอมมะลิหนองผักบุ้งพัฒนา จังหวัดเพชรบูรณ์

(คลิกชม LIVEสด – https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1021405792969892)

นอกจากนี้ยังได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์จริงกับกิจกรรมเรียนรู้ Smart Farming Experience จากนวัตกรรมและเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะได้ทั้งการทดลองทำจริง ลงมือจริง วางแผนจริงด้วยตนเอง

ปิดท้ายกิจกรรมด้วย การออกแบบแผนการเกษตรในอนาคตของตัวเองเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปต่อยอดและพัฒนาภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

“สยามคูโบต้ามุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างประสบการณ์ด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เติบโตไปเป็น Smart Farmer ที่นำความรู้และความสามารถมาใช้พัฒนาภาคการเกษตร พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงเกษตรกรรุ่นใหม่สู่การต่อยอดในการทำงาน และสานต่ออาชีพเกษตรกรของครอบครัว ตลอดจนเป็นแรงผลักดันในการดึงศักยภาพตัวเองออกมา เพื่อให้ทุกคนเชื่อว่าสามารถเป็นได้มากกว่าเกษตรกร” นางวราภรณ์ กล่าวปิดท้าย

สำหรับกิจกรรมเรียนรู้ Smart Farming Experience มีทั้งหมด 6 ฐาน

ฐานที่ 1 ปลูกผักสร้างรายได้ โดย Believe farm : เรียนรู้วิธีการปลูกผักในทุกกระบวนการปลูกตั้งแต่การปรุงดินการเลือกเมล็ดพันธุ์ผักวิธีการปลูก และการทำปฏิทินการเพาะปลูกผัก

ฐานที่ 2 การทำนาและปลูกพืชหมุนเวียน : ถ่ายทอดประสบการณ์ การปลูกข้าวจากเกษตรกร รวมถึงการนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรรม รวมถึงการทดลองขับนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่แทรกเตอร์ รถดำนานั่งขับ 8 แถว โดรนการเกษตร รถเกี่ยวนวดข้าว และการพืชหมุนเวียน ตั้งแต่กระบวนการเตรียมดินจนถึงการเก็บเกี่ยว

ฐานที่ 3 การบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตร : ศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ทางการเกษตร การวิเคราะห์พื้นที่ และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ของกลุ่มหนองผักบุ้ง โดยการนำเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีทางการเกษตร ได้แก่ รถขุด ไปใช้เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้รูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่

ฐานที่ 4 การแปรรูปสินค้าการเกษตร :  ศึกษากระบวนการแปรรูปสินค้าการเกษตรตั้งแต่ เริ่มต้นจากแหล่งผลิต การวางแผนการผลิตให้ตรงตามลักษณะความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการของตลาด จบด้วยการจําหน่ายสินค้า

ฐานที่ 5 การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร : การวางแผนการใช้เครื่องจักรกล การสร้างรายได้จากเครื่องจักรกล ปฏิทินการเพาะปลูก ปฏิทินการใช้เครื่องจักรและผลตอบแทนการบริหารการจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร

ฐานที่ 6 การปรับปรุงบำรุงดิน : เทคนิคการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อาทิ การตรวจดินอย่างง่าย การทำปุ๋ยหมัก การผสมปุ๋ยเคมี การทำน้ำหมัก เป็นต้น

(คลิกชม LIVEสด – https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/998753951788962)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated