นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กรมวิชาการเกษตรภายในโครงการพัฒนาแปลงเรียนรู้การผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาแปลงเรียนรู้การผลิตทุเรียนโดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการผลิต
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะพื้นที่ประสบปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณอินทรียวัตถุในดินอยู่ในระดับไม่ถึงเกณฑ์ การจัดการธาตุอาหารที่ไม่เหมาะสม และการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง ทำให้กระบวนการผลิตทุเรียนไม่มีประสิทธิภาพ การระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นทุเรียนยืนต้นตาย ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกปี
นายสุภาพ สมบัวคู เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร (สวพ.6) กล่าว่า สวพ.6 ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาแปลงเรียนรู้ “การผลิตทุเรียน” ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี โดยคัดเลือกแปลงทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองพื้นที่ 24 ไร่ 289 ต้น ภายในศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ เพื่อพัฒนาเป็นแปลงเรียนรู้ เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ และมีต้นทุนสูง โดยได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่และประเด็นปัญหาการผลิตทุเรียนของศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ เน้นการนำเทคโนโลยีแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ การผลิตและการใช้ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินสำหรับไม้ผล การหมุนเวียนกลุ่มสารเคมี และเทคโนโลยีผสมผสานการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนมาปรับใช้ในการผลิตทุเรียนของศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ จากนั้นจึงพัฒนาให้เป็นแปลงเรียนรู้การผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืนสำหรับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาดูงาน และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
คำแนะนำสำหรับการผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืน ได้แก่ การปรับปรุงบำรุงดินและการจัดการธาตุอาหารพืชสำหรับทุเรียน ด้วยการใส่ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ อัตรา 40 กิโลกรัม/ต้นหลังเก็บเกี่ยว ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยอินทรีย์ได้ ร้อยละ 64.70 และค่าปุ๋ยเคมีลดลงร้อยละ 38.80 ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณอินทรียวัตถุเพิ่มมากขึ้น ส่วนการควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนด้วยวิธีผสมผสานโดยการใช้วิธีเขตกรรม การใช้ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาปล่อยไปกับระบบการให้น้ำ ทุก 2 เดือน ร่วมกับการรักษาแผลที่ลำต้นด้วยการทาน้ำสกัดเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี และใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำ หากสำรวจพบโรคที่ผล 1 ผล/ ต้น ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีเมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิลอะลูมิเนียม 80%WP อัตรา 50-80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิลผสมแมนโคเซบ 62 % WP อัตรา 30-50 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือฟอสฟอนิก แอซิด (ฟอสฟอรัส แอซิค หรือ กรดฟอสฟอรัส) อัตรา 50-100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ในช่วง 1 เดือนก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต และพ่นครั้งสุดท้ายก่อนการเก็บผลผลิตไม่น้อยกว่า 20 วัน พร้อมกับหมั่นสำรวจตรวจดูโรคและแมลงศัตรูพืชสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรสำรวจทุก 1 เดือน
“จากการคำนวณผลผลิต ต้นทุน รายได้และรายได้สุทธิ พบว่า การนำเทคโนโลยีการผลิตของกรมวิชาการเกษตรมาปรับใช้ในการผลิตทุเรียนในแปลงเรียนรู้ภายในศูนย์พัฒนาไม้ผล ฯ มีต้นทุน 9,625 บาท/ไร่ รายได้ 39,551 บาท/ไร่ ทำให้มีรายได้สุทธิ 29,926 บาท/ไร่ ส่วนการผลิตทุเรียนด้วยกรรมวิธีเดิมภายในศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ มีต้นทุน 15,042 บาท/ไร่ รายได้ 28,372 บาท/ไร่ ทำให้มีรายได้สุทธิ 13,330 บาท/ไร่ โดยโครงการพัฒนาแปลงเรียนรู้การผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืนภายในศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ นี้ถูกสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรด้านการผลิตไม้ผลคุณภาพ ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีให้มีศักยภาพในการผลิตทุเรียนคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นแปลงต้นแบบให้กับเกษตรกรในภูมิภาคอื่นๆ สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 039 397 134” นายสุภาพ กล่าว