เผย “โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้” เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุด เพิ่มรายได้ครัวเรือน

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการ “โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้” ซึ่งดำเนินการจัดตั้งขึ้น เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีหน่วยงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเป็นหน่วยงานหลัก และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมบูรณาการสนับสนุนการดำเนินงาน และ สศท.4 เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามผลการดำเนินงานและเสนอแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบ กระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการดังกล่าว

สำหรับโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริฯ บ้านกำพี้ ได้ดำเนินการในพื้นที่ป่าโคกแสบง ตำบลกำพี้ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 157 ไร่ 2 งาน เป็นพื้นที่จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เป็นแหล่งจ้างแรงงานในชุมชน แหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษ แหล่งเรียนรูของชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการประกอบด้วย 1) กิจกรรมปลูกพืชผักหมุนเวียนตลอดทั้งปี อาทิ ผักบุ้งจีน ต้นหอม ข่า ตะไคร้ และกะเพรา 2) กิจกรรมการปลูกพืชไร่ ไม้ผล นาข้าว 3) กิจกรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 4) กิจกรรมปศุสัตว์ อีกทั้งยังมีการปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ เพื่อให้ผู้มาเรียนรู้ด้านกิจกรรมปศุสัตว์สามารถนำไปประกอบอาชีพของตนเอง 5) กิจกรรมประมง อาทิ ปลานิล และปลาดุก บ่อดิน และ 6) กิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวเกรียบสมุนไพรที่ผลิตจากพืชผักในโครงการ กล้วยฉาบ น้ำสมุนไพร เป็นต้น

โดยในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมามีการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสนับสนุนองค์ความรู้และปัจจัยการผลิต ได้แก่่ ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น (กรมการข้าว) มีการดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมมหาสารคาม (กรมหม่อนไหม) ดำเนินการอบรมการออกแบบการปักลายผ้าไหม และหน่วยงานสถานีพัฒนาที่ดินมหาสารคาม (กรมพัฒนาที่ดิน) สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม (กรมส่งเสริมการเกษตร) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม (กรมวิชาการเกษตร) สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม (กรมประมง) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ยังได้มีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ สารพด. เป็นต้น

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดย สศท.4 ได้รับมอบหมายภารกิจการติดตามโครงการที่ดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการและเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 32 ราย ในภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า ด้านการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 83 สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้เฉลี่ย 1,368 บาท/ครัวเรือน/ปี เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาที่มีรายจ่ายในครัวเรือน 2,479 บาท/ครัวเรือน/ปี (ลดลงร้อยละ 55.19) ด้านพืช เฉลี่ย 1,870 บาท/ครัวเรือน/ปี รองลงมา ด้านหม่อนไหม เกษตรกรนำผลผลิต (ผ้าไหม) มาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเพื่อลดรายจ่ายในการซื้อเครื่องนุ่งห่ม และนำผลพลอยได้ เช่น ดักแด้ มาจำหน่ายและบริโภคในครัวเรือนเฉลี่ย 866.67 บาท/ครัวเรือน/ปี ด้านการเพิ่มขึ้นของรายได้พบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 80.56 มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น จากการนำองค์ความรู้ที่ได้รับ จากการถ่ายทอดจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ในภาพรวมรายได้ทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้น ในด้านหม่อนไหม โดยจากการจำหน่ายผ้าไหม เฉลี่ย 15,276.50 บาท/ครัวเรือน/ปี เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 9,500 บาท/ครัวเรือน/ปี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.81) ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ลดลงและการเพิ่มของรายได้จากการเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถสะท้อนภาพของรายได้ในครัวเรือนของเกษตรกรเฉลี่ย 24,099.19 บาท/ครัวเรือน/ปี จากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 21,593.75 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

ทั้งนี้ สำหรับการติดตามผลโครงการฯ สศท.4 ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงรูปแบบหรือกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักโดยกรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สามารถทนแล้งและเหมาะกับสภาพพื้นที่มาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และกรมชลประทานสนับสนุนระบบน้ำชลประทานให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดและหน่วยงานระดับท้องถิ่นช่วยรณรงค์สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และสารชีวภัณฑ์เพิ่มขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านปัจจัยการผลิต

ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ยังเปิดให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้และเยี่ยมชมได้ โดยทางโครงการได้จัดเวลาในการเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่ เวลา 08.00 – 16.00 น. สัปดาห์ละ 6 วัน โดยหยุดสับเปลี่ยนวันเสาร์ – อาทิตย์ และหากท่านสนใจรายละเอียดผลการติดตามโครงการฯ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.4 โทร 0 43261 1513 หรือ อีเมล์ zone4@oae.go.th  

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated