เมื่อเราพูดถึงการเกษตรของประเทศไทย ก็จะนึกถึงความเหนื่อยยาก ความลำบาก และความยากจนของเกษตรกรไทย ซึ่งติดกับดักนี้และเป็นอยู่อย่างนี้มาชั่วนาตาปี ยังไม่มีใครที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรได้เลย
ในขณะที่เมื่อพูดถึงเกษตรกรญี่ปุ่นเราคนไทยก็มองว่าเกษตรกรญี่ปุ่นร่ำรวยมีคุณภาพชีวิติที่ดี โดยที่เกษตรก้าวไกลก็ได้เกาะติดสถานการณ์เกษตรของประเทศญี่ปุ่นมาตามลำดับ อย่างเช่น เคยมาศึกษาดูงานกับสยามคูโบต้า เคยมาดูการทำนาแบบครบวงจร และยังเคยมาดูการทำนาในพื้นที่จำกัด คือการทำนาแบบขั้นบันไดกับ ธ.ก.ส. เคยมาดูโรงสีข้าวชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในญี่ปุ่น แต่ละครั้งก็ได้สาระความรู้ไปมาก และได้นำเสนอผ่านสื่อในเครือเกษตรก้าวไกลในทุกครั้งที่ได้เดินทางมาเยือน แต่กับครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว ตั้งใจว่าจะเก็บข้อมูลด้านการเกษตรแบบเจาะลึกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
และในปี 2567 เป็นจังหวะเวลาที่ดีในโอกาสครบ 10ปีแห่งการดำเนินงานเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล จึงเกิด “โครงการเกษตรก้าวไกลเต็มสิบ” โดย ลุงพร เกษตรก้าวไกล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 10 ปี เราได้พยายามสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆขึ้นมา ภายใต้แนวคิดเกษตรคือประเทศไทย “เกษตรกรอยู่รอด ประเทศไทยอยู่ได้” อย่างในปีนี้เราก็ได้ทดลองโครงการศึกษาดูงานในประเทศเกษตรกรรมที่เขาเจริญแล้ว เพื่อมองหาโมเดลธุรกิจและเส้นทางความอยู่รอดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรไทย รวมทั้งความอยู่รอดของตนเองในฐานะสื่อมวลชนด้านการเกษตร และในที่สุดก็มาหยุดตรงประเทศญี่ปุ่น เพราะคนไทยรู้ถึงความก้าวหน้าของการเกษตรในประเทศนี้อยู่บ้างแล้ว โชคดีที่ทีมงานเกษตรก้าวไกลคนหนึ่ง คือ “น้าตู่” หรือ วัธนา มาลัยบาน มีความคุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่น ได้เคยไปถ่ายทำเรื่องเกษตรญี่ปุ่นมาหลายหนหลายครา ก็เลยจัดโปรแกรมเกษตรก้าวไกล LIVE IN JAPAN โดยมีความตั้งใจที่จะไปสัมภาษณ์ถ่ายทำเรื่องราวทางด้านการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เราเริ่มดำเนินการติดต่อประสานงานแบบเงียบๆ ค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดก็เป็นไปได้จริง และในโอกาสหน้าหากโครงการนี้สำเร็จทางเราก็พร้อมพัฒนาต่อยอด เอาล่ะ..เรามาดูกันว่าโครงการไปศึกษาดูงานเกษตรของเราที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้จะไปจุดไหน อย่างไร หรือมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
“น้าตู่” หรือ วัธนา มาลัยบาน
กำหนดการเดินทางเกษตรก้าวไกล LIVE IN JAPAN 3-11 ตุลาคม 2567 (รวม 9 วัน)
วันที่ 3 ต.ค. – พบกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ 20.30 น. โดย Zipair สายการบินราคาประหยัดของญี่ปุ่น
วันที่ 4 ต.ค. – 08.00 น.ถึงสนามบิน Narita Airport เจ้าหน้าที่ของคุณปลา – ณัฐธิณี อิชิยาม่า แห่งร้านปลาทอง เอเซี่ยนฟู้ด มารับไปดูสถานที่จัดงานแต่งงานที่จังหวัดชิบะ Chiba โดยที่ดูสถานที่จัดงานแต่งงาน(จะแต่งงานในวันรุ่งขึ้น)จะเป็นการเริ่มต้นถ่ายทำเรื่องราวด้านการเกษตร เพราะว่าคุณปลาเป็นคนไทยหัวใจเกษตรเต็มร้อย เคยมาปรึกษาหารือกันว่าจะจัดงานแต่งของลูกสาว โดยจะเติมเต็มความเป็นชาตินิยมไทย ด้วยการปลูกผักไม้เลื้อยทำเป็นซุ้มขึ้นมา เราจะไปพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดและดูวิธีการปลูกให้สวยงามว่าสวนเกษตรจะสามารถเพิ่มมูลค่าในการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆได้อย่างไร เรียกว่าแต่งงานในแปลงปลูกผักหรือแปลงเกษตร โดยใช้วัฒนธรรมไทย ซุ้มผักไทยๆ ให้คนญี่ปุ่นได้สัมผัสแบบเต็มๆ ทราบว่าเมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ปลูกนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง ซึ่งได้ให้การสนับสนุนในการเดินทางของเราในครั้งนี้ด้วย
คุณปลา – ณัฐธิณี อิชิยาม่า กับใบกะเพราเชื้อชาติไทย แต่สัญชาติญี่ปุ่น
วันที่ 5 ต.ค. – ถ่ายทำพิธีแต่งงาน ตั้งแต่เช้า 09.00 จนจบ 18.00 น. ที่งานแต่งงานนี้เราจะได้สัมผัสกับแปลงปลูกผักที่คุณปลามุ่งมั่นตั้งใจ วางแผนปลูกผักแต่ละชนิดด้วยหัวใจ จนกลายเป็นซุ้มผักที่สวยงาม เราจะมาดูกันว่าการแต่งงานในแปลงปลูกผักหรือแปลงเกษตร โดยใช้วัฒนธรรมไทย ซุ้มผักแบบไทยๆ ให้คนญี่ปุ่นได้สัมผัสแบบเต็มๆ ว่าจะเป็นที่ชื่นชอบหรือสร้างความประทับใจให้กับคนจัดและแขกที่มาร่วมงานได้แค่ไหน
คุณพิมใจ มัตสึโมโต คุยกันชัดๆว่าโอกาสสินค้าเกษตรไทยจะไปได้ไกลแค่ไหน
คุณพิมใจพาคณะรัฐมนตรีพาณิชย์ในขณะนั้นไปดูการขายกล้วยหอมทองของเกษตรกรไทยที่ห้างเบเซียในญี่ปุ่น
คุณพิมใจกับเรื่องราวของกล้วยหอมส่งออกที่กำลังให้การสนับสนุนเกษตรกรไทย
วันที่ 6 ต.ค. – เช้า 9.00 เดินทางเข้าโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น เพื่อสัมภาษณ์ คุณพิมใจ มัตสึโมโต เจ้าของร้านอาหารแก้วใจ และในฐานะผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ จะพูดคุยกันเรื่องสินค้าเกษตรไทยที่นำไปขายในญี่ปุ่นว่ามีโอกาสแค่ไหน เช่น พืชผัก สมุนไพร ผลไม้ไทย ทั้งมะม่วง กล้วยหอมทอง และทุเรียน พร้อมกันนั้นจะพาไปเยี่ยมชมห้างเบเชีย ที่วางจำหน่ายกล้วยหอมจากประเทศไทย
คุณสุกานดา คนที่ 2 จากขวา (ยืนหน้า)
ต้นพลับ
เช้าวันที่ 7 ต.ค. – เดินทางไปจังหวัด โทชิงงิ Tochigi ถ่ายทำฟาร์มปลูกมะเขือเทศ แอปเปิ้ล ลูกพลับ ต่อด้วยดูไปแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ที่อยู่ในย่านเดียวกัน โดย คุณสุกานดา โยชินากะ ผู้ประสานงานในพื้นที่จะพาไปเยี่ยมชมทั้งการปลูกในแปลงธรรมชาติและในโรงเรือนอย่างจุใจ
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ เจาะลึกเรื่องเกษตรแบบญี่ปุ่นและสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น
แปลงปลูกผักกาดมีรถมารับถึงแปลงและไปส่งที่สหกรณ์การเกษตร
วันที่ 8 ต.ค. – เดินไปจังหวัด อิบารางิ Ibaragi ถ่ายทำแปลงผักกาดขาว พบปะพูดคุยกับเยาวชนไทยที่มาเรียนรู้ด้านทำการเกษตรที่ญี่ปุ่น โดยมี รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ผู้เชี่ยวชาญการเกษตรประเทศญี่ปุ่น คอยต้อนรับและนำเยี่ยมชม กระบวนการเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยว พร้อมพาไปดูการการบริหารงานของสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น หรือ Ja สถานที่ขายส่งรับซื้อพืชผักที่ผลิต ว่าทำไมสหกรณ์การเกษตรของเขาจึงเข้มแข็ง (คำถามถึงสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น (JA) https://tinyurl.com/3vue8x2m เรามีนัดสัมภาษณ์ประธานสหกรณ์การเกษตรของญี่ปุ่น (JA) เชิญส่งคำถามมาสมทบได้ครับ)
JA คือสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น
ผลไม้ที่ปลูกทุกชนิดจะมีตลาดชัดเจน
กล่าวเฉพาะในเรื่องระบบสหกรณ์การเกษตรเราให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยได้ศึกษา JA Group ซึ่งเป็นสหกรณ์การเกษตรหลักของประเทศญี่ปุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกเกษตรกรทั่วประเทศ และเมื่อวานนี้(23 กันยายน 2567) เราก็ได้สัมภาษณ์นายปรเมศร์ อินทรชุมนุม ประธานสัตนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้สหกรณ์การเกษตรของประเทศไไทยเข้มแข็งเหมือนประเทศที่เจริญแล้วบ้าง
ไร่ศตพลเตรียมแปลงปลูกผัก
คุณศตพล โชว์เมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ตราศรแดง
คุณศตพลปลูกมะละกอส้มตำขายด้วย
วันที่ 9 ต.ค. – ออกเดินทางตั้งแต่เช้าไปที่ ไร่ศตพล ที่ Ibaraki Ken Shi Oyama 1136 ที่นี่เป็นแปลงปลูกผักขนาดใหญ่ มีผักหลายชนิด และเจ้าของคือคุณศตพล เป็นคนไทยหัวใจเกษตร เราเคยสัมภาษณ์LIVEสดจากประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว ซึ่งเขามาปลูกผักขายส่งทั่วประเทศญี่ปุ่นว่าเขาทำได้อย่างไร เราจะปักหลักพูดคุยกันอย่างละเอียด ตั้งแต่การผลิตไปจนขั้นตอนการตลาดและการขาย การกระจายสินค้า ว่าทำอย่างไรจึงสามารถยึดครองลูกค้าคนไทยและคนญี่ปุ่นได้ โดยทราบว่าเมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ปลูกนั้นเป็นเมล็ดพันธุ์ตราศรแดงนั่นเอง
คุณมะลิจันทร์ ฮายาชิ
วันที่ 10 ออกเดินทางตั้งแต่เช้าไปจังหวัดไซตามะ โดย คุณมะลิจันทร์ ฮายาชิ ผู้ประสานงานจังหวัดไซตามะจะพาไปเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวบนพื้นที่ 6 ไร่ ของคุณพรรณี มิตะ สาวจังหวัดบึงกาญจน์ที่มาปักหลักอยู่ญี่ปุ่นนานปี พร้อมทั้งดูระบบชลประทานของญี่ปุ่น ดูการเก็บเกี่ยวข้าวด้วยรถเกี่ยวคูโบต้าคันใหม่ พร้อมการบริหารจัดการหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและการตลาดแบบปลูกเองขายเอง และพลาดไม่ได้กับการเปิดบ้านของเกษตรกรที่ญี่ปุ่นให้เยี่ยมชมอีกด้วยว่าเป็นอยู่อย่างไร
ไร
ถนน ไฟฟ้า เข้าถึงที่นาทุกแปลง
ระบบชลประทานเดินคู่มากับถนนที่เข้าถึงแปลงนาทุกแปลง
วันที่ 11 เดินทางกลับเที่ยวบิน 17.00 น. ถึงไทย 23.00.น.
โครงการเกษตรก้าวไกล LIVE IN JAPAN ในครั้งนี้เรามีตัวแทนเกษตรกรมาร่วมคณะด้วย 1 ท่าน คือ คุณต่อศักดิ์ วัฒนวิจารณ์ เกษตรกรและนักธุรกิจนักสู้ เจ้าของสวน Fresh-1 Lemon Farm สวนเลม่อนขนาดใหญ่แห่งชะอำ เพชรบุรี ส่วนเกษตรกรท่านอื่นๆที่ไม่ได้มาก็เหมือนได้มา เพราะเราจะทำการถ่ายทอด LIVEสดผ่านเครือข่ายเว็บไซต์เกษตรก้าวไกลในทุกช่องทางและทุกโปรแกรมแบบจุใจเหมือนได้มาด้วยตนเอง โดยวิธีการLIVEสดนี้เราได้ดำเนินการในสวนและในฟาร์มของเกษตรกรตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ รวมทั้งที่ประเทศญี่ปุ่นเราก็ได้ดำเนินการมาก่อน 2 ครั้งแล้ว
คุณต่อศักดิ์ วัฒนวิจารณ์
(ติดตามการ LIVEสดได้ที่ เพจและยูทูป ช่องเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน และทาง Tiktok ลุงพรเกษตรก้าวไกล ตั้งแต่วันที่ 3-11 ตุลาคม ในทุกช่วงเวลาที่ไปเยือนในแปลงเกษตรต่างๆ)
ลุงพร เกษตรก้าวไกล ไปญี่ปุ่นเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้มาแบ่งปันสู่เกษตรกรไทยทุกคน ท่านใดจะสนับสนุนเชิญได้ครับ
โดยการมาครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประสานงาน เจ้าของแปลงเกษตรในญี่ปุ่นทุกจุดทุกแปลง และผู้สนับสนุนทุกฝ่าย เราหวังว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรไทยและผู้สนใจด้านการเกษตรทุกคน จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
หมายเหตุ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม