นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับกระจายทั่วทั้งประเทศ สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในขณะที่ไม้ดอกไม้ประดับมีปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ยังมีการนำเข้าไม้ดอกเมืองหนาวเพิ่มมากยิ่งขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตร จึงแบ่งกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลิตภาพ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีศักยภาพการส่งออก เช่น กล้วยไม้ปทุมมา จากสถานการณ์ปี 2566 ประเทศไทยส่งออกไม้ดอกไม้ประดับมูลค่ารวม 4,474 ล้านบาท โดยส่งออกกล้วยไม้มากที่สุด 2,682 ล้านบาท ประเทศผู้นำเข้าไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนกลุ่มที่ผลิตเพื่อลดการนำเข้า เช่น กุหลาบ บัวหลวง เบญจมาศ ลิลลี่ ซึ่งประเทศไทยมีการนําเข้าไม้ดอกไม้ประดับมูลค่า 2,237 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น มะลิ พุด ดาวเรือง รัก บัว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ จากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร ด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Value) ด้วยการทำเกษตรแม่นยำสูงที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ภายใต้โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูง 500 ตำบล ภายในปี 2570
โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร คัดเลือก 14 ชนิดพืชสินค้าเกษตรมูลค่าสูง นำร่องจาก 46 กลุ่มแปลงใหญ่ 46 ตำบล 42 อำเภอ 26 จังหวัด ได้แก่ กล้วยไม้ กาแฟ มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด หน่อไม้ฝรั่ง ลำไย มะม่วง มะขามหวาน กล้วยหอม มังคุด ส้มโอ ลิ้นจี่ ทุเรียน และส้มเขียวหวาน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร พึ่งตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืน
กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญในการถ่ายทอดแนวนโยบายการสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Value) และยกระดับผลิตภาพการผลิตและคุณค่าตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร ให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่พร้อมในการปฏิบัติงานเพื่อเกษตรกร จึงจัดทำโครงการจัดเวทีพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายไม้ดอกไม้ประดับ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมไม้ดอกและไม้ประดับ และงานโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อพัฒนาสมรรถนะ เพิ่มองค์ความรู้ และสร้างความเข้าใจในทิศทางเดียวกันของแนวนโยบายการสร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Value) สู่การยกระดับผลิตภาพการผลิต และคุณค่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน และพัฒนาแบบจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของแปลงเกษตรกรในการวิเคราะห์สินค้าเกษตรมูลค่าสูงอย่างแม่นยำ รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อให้สามารถนำความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ที่ได้ ไปพัฒนา ต่อยอด ถ่ายทอด และขยายผลแก่เกษตรกรต่อไป