นางรพีพร กลั่นเนียม รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์

สหกรณ์การเกษตรบ้านน้ำเป็น จำกัด จ.ระยอง แม้จะเป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก แต่มีการบริหารจัดการทางการเงินและมีระบบควบคุมภายในที่ดี เป็นสหกรณ์ที่ได้รับรางวัลสหกรณ์ดีเด่นระดับภาคปี 2564 และได้รับการจัดชั้นผลการประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรประจำปี 2566 ชั้น 1 ด้วยสหกรณ์มีการนำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรและนวัตกรรมที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาเป็นตัวช่วย ประกอบกับการดำเนินการภายใต้โครงการ THINK & DO TOGETHER บูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์อย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงิน การบัญชีและการควบคุมภายในให้กับสหกรณ์อีกด้วย

เกษตรก้าวไกล LIVE – ตามมาดูสหกรณ์การเกษตรบ้านน้ำเป็น จำกัด ว่าเข้มแข็งแค่ไหน? https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1696670121149332

นางรพีพร กลั่นเนียม รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ โดยการนำระบบบัญชีมาใช้บริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความโปร่งใส ลดความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลประโยชน์สูงสุดสู่สมาชิก โดยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสหกรณ์ อย่างโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร FAS ที่ได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมตามธุรกิจของสหกรณ์ในทุกๆ ด้าน และมีความทันสมัย เป็นปัจจุบัน ช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงานและมีระบบข้อมูลทางบัญชีที่ได้มาตรฐานสามารถปิดบัญชีประจำปีได้อย่างรวดเร็ว จึงนับว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งทางบัญชีให้กับสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ คือ Smart4M ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของโปรแกรม FAS ให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน โดยช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละภาคส่วนของสหกรณ์สามารถตรวจสอบความแม่นยำข้อมูลทางบัญชีและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของสหกรณ์ได้ทันท่วงที ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบสหกรณ์อีกด้วย

นายวัลลภ ยั่งยืน ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรบ้านน้ำเป็น จำกัด อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ได้นำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี เปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ เป็นสหกรณ์ประเภทสหกรณ์การเกษตร จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 มีจำนวนสมาชิกแรกตั้ง 97 คน เงินทุน 1,223,700 บาท

ผลการดำเนินธุรกิจ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 187.52 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 5 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจสินเชื่อ 75.55 ล้านบาท 2. ธุรกิจรับฝากเงิน 67.02 ล้านบาท 3. ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 13.45 ล้านบาท 4. ธุรกิจรวบรวมผลผลิต 31.43 ล้านบาท 5. ธุรกิจแปรรูป 79,200 บาท ภายใต้จำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 431 คน มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 133.50 ล้านบาท มีสินทรัพย์ทั้งสิ้นประกอบด้วย เงินให้กู้ยืม – สุทธิ 112.81 ล้านบาท มากที่สุด รองลงมาเป็นที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 15.68 ล้านบาท

การจัดหาเงินทุนมาจากแหล่งเงินทุนภายในเป็นส่วนใหญ่ ประกอบด้วย เงินรับฝากจากสมาชิกมากที่สุด 84.57 ล้านบาท รองลงมาเป็นทุนของสหกรณ์ 33.76 ล้านบาท ประกอบด้วยทุนเรือนหุ้น 25.84 ล้านบาท กำไรสุทธิประจำปี 3.40 ล้านบาท ปัจจุบันอัตราการเติบโตทุนของสหกรณ์ 23.81% สหกรณ์มีความสามารถจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ทุกปี

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า การที่สหกรณ์ฯ ดำเนินงานด้านการบริหารทางการเงินและการควบคุมภายในที่ดี เป็นเพราะสหกรณ์ฯ มีการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น โปรแกรมระบบสมาชิกและระบบเงินให้กู้ ใช้มาเป็นเวลา 10 ปี โปรแกรมระบบสินค้า ใช้มาเป็นเวลา 5 ปี โปรแกรมระบบเงินรับฝาก ใช้มาเป็นเวลา 10 ปี และโปรแกรมระบบบัญชีแยกประเภท ใช้มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งโปรแกรมทั้งหมดนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยให้สะดวก รวดเร็ว ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดปริมาณผู้ปฏิบัติงาน มีเอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้ มีฐานข้อมูลทางบัญชีครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ลดความผิดพลาดภาพของการปฏิบัติงานตรวจสอบได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สหกรณ์ยังมีการส่งเสริมให้สมาชิกใช้แอปพลิเคชั่น SmartMember เพื่อจะได้ตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา จึงทำให้สมาชิกเชื่อมั่นในความโปร่งใสของสหกรณ์ ส่งผลให้สหกรณ์ฯ มีความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ สหกรณ์ยังเข้าร่วมโครงการ THINK & DO TOGETHER บูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์อย่างยั่งยืน โดยการร่วมระดมความคิดเห็นระหว่างสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการและผู้ตรวจการของสหกรณ์ พิจารณาการบริหารความเสี่ยง กำหนดกิจกรรมควบคุมภายในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระเบียบว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำในการควบคุมภายในและการรักษาความปลอดภัยด้านคอมพิวเตอร์ กำหนดและติดตามการปฏิบัติงานตาม พร้อมให้ความสำคัญให้ผู้จัดการทำหน้าที่ Admin ในการควบคุมดูแลระบบงานและกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลในระบบเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่มีอำนาจและไม่ได้รับอนุญาต เข้าถึงข้อมูลของสหกรณ์ได้

“อย่างไรก็ดีในการวางแนวทางการพัฒนาในอนาคตยังคงต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป อาทิ การส่งเสริมให้ใช้ Smart4m อย่างครบวงจร ประกอบด้วย แอปพลิเคชั่น SmartMe เพื่อให้สมาชิกใช้บันทึกบัญชีรับ-จ่ายครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อวางแผนการใช้จ่าย และการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ใช้แอปพลิเคชั่น SmartMember เพื่อให้สมาชิกได้ตรวจสอบฐานะทางการเงินของตนเองได้ตลอดเวลา สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิก ในการกำกับดูแลสหกรณ์ ลดการเกิดทุจริต ส่งเสริมการใช้แอปพลิชั่น SmartManage เพื่อให้คณะกรรมการใช้ในการตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ประจำวันอย่างรวดเร็ว จากทุกที่ ทุกเวลา รวมไปถึงกำกับสหกรณ์ได้อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ลดความเสียง และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง  และสหกรณ์มีแผนดำเนินงานโดยเตรียมส่งเสริมให้ใช้แอปพลิเคลั่น SmartMonitor เพื่อให้ผู้ตรวจสอบกิจการใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการดำเนินธุรกรรมของสหกรณ์ ให้สามารถวิเคราะห์ ตรวจพบรายการผิดปกติทันเหตุการณ์ เพื่อผลประโยชน์สมาชิก และจะนำโปรแกรมเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร CFSAWS:ss เข้ามาใช้เพื่อให้สหกรณ์สามารถวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินและสามารถตรวจ สภาพทางการเงิน เพื่อเฝ้าระวังทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องต่อไปด้วย” นายวัลลภ กล่าวทิ้งท้าย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated