“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีทั้งการเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนภาครัฐ และ องค์ความรู้ต่าง ๆ จาก TED Fund และอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน KKNB เกิดผลได้ตามเป้าหมาย ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ ดื่มง่าย รสชาติดี ให้ความสดชื่น และมีประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากสารสกัดผลไม้และธัญพืช อีกทั้งยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ประกอบด้วย SAKU Cocktail และ ไวน์สาคู ที่ใช้วัตถุดิบจากต้นสาคู ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง และ Sparking Wine ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาจากสารสกัดพืชอนาคตของจังหวัดพัทลุง ได้แก่ สับปะรด สละ และรำข้าวสังข์หยด”

นายกนกพล นาคะวิโรจน์ ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชน KKNB ตั้งอยู่เลขที่ 96 หมู่ 11 โตนดด้วน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวระหว่างการลงพื้นที่ของ นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะรับผิดชอบกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund) หรือ TED Fund และ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการ Ted Fund ลงพื้นที่ที่วิสาหกิจชุมชน KKNB เพื่อติดตามภารกิจการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ Ted Fund สนับสนุนผ่านทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น โดยมี ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะ Ted Fellow และ ดร.นิชากรณ์ พันธ์คง ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ

วิสาหกิจชุมชน KKNB เกิดจากโครงการ U2T
นายกนกพล กล่าวต่อไปว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB เกิดจากโครงการ U2T ของกระทรวง อว. ในปี 2564 จากนั้นปี 2565 ได้จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อทำไวน์สาคู พร้อมมีการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด KKNB เพื่อดำเนินงานด้านการตลาด
สำหรับวิสาหกิจชุมชน KKNB ปัจจุบันมีสมาชิก 7 คน ซึ่งมองร่วมกันว่า แป้งสาคู เป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากแป้งชนิดอื่นๆ และเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด แต่เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ไม่มีความหลากหลาย ตลอดจนมีการแข่งขันในตลาดที่สูง จึงคิดสร้างมุมมองด้านการใช้ประโยชน์ใหม่ ด้วยการนำแป้งสาสาคูมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มแอลกอออล์ต่ำ โดยเริ่มต้นด้วยการผลิตเป็น “ไวน์สาคู” เป็นดันดับแรก โดยขอรับทุนสนับสนุนจาก Ted Fund ไวน์สาคูผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและได้รับใบอนุญาตผลิตจากสรรพสามิตแล้ว

ทั้งนี้ ตำบลควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่ป่าสาคูมากกว่า 80 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ป่าสาคู 1 ใน 3 ของป่าสาคูทั้งจังหวัดพัทลุง คนในชุนชุมชนจึงได้มีการนำต้นสาคูมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนำมาทำเป็นขนมหวาน การผลิตเป็นสาคูเม็ดจำหน่ายมาช้านาน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแป้งสาคูต้นยายฉุย ที่มีนายพิชัย ทิพย์มาก เป็นประธานฯ คือหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้จากสาคู และวันนี้ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัตถุดิบแป้งสาคูส่งจำหน่ายให้กับทางวิสาหกิจชุมชน KKNB เพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอออล์ต่ำ
รังสรรค์เป็น 3 ผลิตภัณฑ์เด่น
“ทางกลุ่มจึงมีแนวคิดว่า สาคูเป็นได้มากกว่าขนมหวาน ไวน์สาคูจึงเกิดขึ้น โดยขอรับทุนสนับสนุนจาก Ted Fund ไวน์สาคูผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและได้รับใบอนุญาตผลิตจากสรรพสามิตแล้ว” นายกนกพลกล่าว

ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของ Ted Fund ส่งให้ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชน KKNB สามารถสร้างสรรผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด 3 ชนิด ได้แก่
หนึ่ง ไวน์สาคู เป็นไวน์ขาวมีปริมาณน้ำตาล 70 มิลลิกรัมต่อลิตร แอลกอฮอล์ 9% ผ่านการหมักด้วยเชื้อยีสต์ โดยใช้เวลา 60 วัน ทำให้ได้ไวน์ขาวที่ดื่มง่าย มีกลิ่นหอมของแป้งหมักที่เป็นเอกลักษณ์

สอง Sparking Wine ซึ่งเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากไวน์สาคู
สาม SAKU Cocktail โดยนำไวน์สาคูมาผสมกับน้ำผลไม้และสารสกัดจากฐานทรัพยากรในพื้นที่ จ.พัทลุง ได้แก่ สับปะรด สละ และข้าวสังข์หยด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เน้นแอลกอฮอล์ต่ำ ดื่มง่าย สดชื่น และยังมีประโยชน์ที่เพิ่มเติมมาจากสารสกัดผลไม้และธัญพืชที่ใส่ลงไปในกระบวนการหมัก ซึ่งควบคุมคุณภาพด้วยระบบ IoT โดยในเดือน ธ.ค.67 นี้ จะได้รับอนุญาตจากสรรพสามิต ให้จำหน่ายได้
การผลิตเน้นคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ในขบวนการผลิต วิสาหกิจชุมชน KKNB ได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพไปสู่ผู้บริโภค เช่น การผลิต SAKU Cocktail : น้ำสีมีฟอง เครื่องดื่มเพิ่มความซ่าจากการหมักไวน์สาคู ได้มีการพัฒนาถังหมักและกระบวนการหมักให้เป็นการหมักแบบต่อเนื่อง หรือ continuous fermentation ซึ่งสามารถหมักแบบต่อเนื่องได้ ส่งผลให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง ลดการปนเปื้อนจากจุลินทรีย์และสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ตลอดจนสามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสม่ำเสมอ

พร้อมกันนี้ ยังมีการนำระบบ IoT มาใช้ควบคุมคุณภาพการผลิต SAKU COCKTAIL ทั้งเรื่องของ อุณหภูมิ, pH, TDS, SG ซึ่งการ
ทั้งนี้ นายกนกพล กล่าวว่า การควบคุมอุณหภูมิ,pH. TDS. SG เพื่อให้น้ำหมักสาคูมีสภาวะที่ยีสต์สามารถเจริญเติบโตและทำงานได้เต็มที่ โดยจะควบคุมให้อุณหภูมิ อยู่ระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส ส่วน pH อยู่ระหว่าง 3.5-4.5 พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาตราสินค้า ฉลาก และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อีกด้วย
Ted Fund พร้อมหนุนเต็มที่
ด้าน นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า หน้าที่ของ Ted Fund คือทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มีเครื่องมือและมีกลไกในการสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และวิสาหกิจชุมชน KKNB ถือเป็นผู้ประกอบการที่สร้างความเปลี่ยนแปลง มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ใช้คนเพียง 5-7 คนเท่านั้น และที่สำคัญ คือการนำอัตลักษณ์ของจังหวัดไปเผยแพร่ผ่านผลิตภัณฑ์ให้คนทั้งประเทศได้รู้จัก

ขณะที่ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการ Ted Fund กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB มาขอรับทุนผ่านโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือนิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี เป็นทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางการตลาด

นอกจากนี้ Ted Fund ยังมีทุนอื่นๆ ที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ อาทิ ทุนส่งเสริมการขยายตลาดและธุรกิจของผู้ประกอบการฯ ทุนพัฒนาภาคเอกชนเพื่อการยกระดับระบบนิเวศฯ เป็นต้น ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ Line official : @tedfund Facebook : TED Fund อีเมล : saraban_tedfund@mhesi.go.th เว็บไซต์ : www.tedfund.mhesi.go.th และโทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4075
ส่วน ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ม.ทักษิณ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน KKNB เป็นผลผลิตของอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ม.ทักษิณ และเป็นวิสาหกิจที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านเครื่องมือของกระทรวง อว. คือ Ted Fund จนได้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็น Change Maker และผลผลิตจากลุ่มวิสาหกิจชุมชน KKNB กำลังจะได้ขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นการเติบโตของผู้ประกอบการแบบสตาร์ทอัพอย่างแท้จริงในการช่วยสนับสนุนนวัตกรรมเชิงพื้นที่

วิสาหกิจชุมชน KKNB นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนของ Ted Fund หน่วยงานที่มีความมุ่มมั่นในการผลักดันธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนเงินทุนอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup รุ่นใหม่ของประเทศไทย