แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6 ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ผู้ผลิตกล้วยน้ำว้า ที่ผลผลิตจะออกดอกติดผลในช่วงแล้งและร้อนจัด คือ เดือนมีนาคม – เมษายน ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้กล้วยเจริญเติบโตช้าลง และเกษตรกรต้องให้น้ำเพิ่ม ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา 3,000 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2,380 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 150 กิโลกรัม/ไร่ จำหน่ายกล้วยน้ำว้าได้ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท จากปีที่ผ่านมาขายได้ ราคากิโลกรัมละ 10 บาท

เพื่อการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต และป้องกันผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต กลุ่มแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6 ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่มีสมาชิกทั้งหมด 34 ราย พื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้า 671.3 ไร่ ร่วมใจมองหาโอกาสแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากจะมีการประชุมทำความเข้าใจระหว่างสมาชิกผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นประจำทุกเดือน เพื่อรักษาคุณภาพผลผลิตของสมาชิกแล้ว ยังเดินหน้าปรับแผนพัฒนาแปลงใหญ่ 5 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านลดต้นทุนการผลิต สมาชิกจะใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น เช่น ระบบการให้น้ำ ระบบการควบคุมความชื้น การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช เพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดินให้แก่สมาชิก รวมทั้งสนับสนุนให้สมาชิกเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ

ด้านการเพิ่มผลผลิต สนับสนุนให้สมาชิกได้เข้าอบรมความรู้ด้านการเพิ่มผลผลิต กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดกระบวนการบริหารจัดการแปลงปลูก ทั้งการออกสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ และการกำจัดวัชพืช โรคพืช เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง การทำใบร่วงตามช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อลดการสูญเสียน้ำและเร่งการออกใบออกดอก

ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมให้สมาชิกจดบันทึกกิจกรรมแปลง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้สมาชิกผ่านการรับรองอย่างน้อยร้อยละ 20 

ด้านการรวบรวมผลผลิต ทางกลุ่มยังคงดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของการตลาดนำการผลิต และการจัดการผลผลิตที่เลื่อมเวลากัน เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ และมีจุดกลางในการรับซื้อผลผลิต ทำให้คู้ค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ สามารถเดินทางเข้ามารับสินค้าได้สะดวก

และด้านการตลาด นอกจากการจำหน่ายในพื้นที่และบริเวณรอบชุมชนตำบลกลัดหลวง ตลาดกลางการเกษตรหนองบ้วย ยังส่งขายให้คู่ค้าเจ้าประจำเพื่อนำมาจำหน่ายในตลาดที่กรุงเทพ และปริมณฑล เช่น ตาลาดคลองเตย ตลาดบางกะปิ ตลาดพระประแดง ตลาดศาลาน้ำร้อน ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท เป็นเป้าที่ชัดเจน ที่จำนวน 360 ตัน/รอบการผลิต และตั้งเป้าหาคู่ค้ารายใหม่เพิ่มเติม เช่น โรงงานแปรรูปกล้วย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ผ่านการสนับสนุนของสำนักงานเกษตรอำเภอท่ายาง

ในรอบการผลิตใหม่ของแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6 ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จะเป็นอีกก้าวที่ความร่วมแรง ร่วมใจของเกษตรกร จะช่วยฝ่าฝันวิกฤตที่เกิดขึ้นได้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated