แห้วที่ปลูกในปัจจุบันคือ “แห้วพันธุ์จีน” มีลำต้นคล้ายต้นหอมหรือใบกก ลักษณะปลูกคล้ายข้าว “แห้วจีน” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยคาดการณ์ว่าอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการนำไปปลูกยังเขตร้อนต่าง ๆ หลายประเทศ ปัจจุบันมีการปลูกแห้วเป็นการค้าในสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สหรัธอเมริกาสาธารณรัฐอินเดีย ทวีปอเมริกาใต้ และประเทศไทย
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แหล่งปลูกแห้วจีนที่ใหญ่ที่สุดคือจังหวัดสุพรรณบุรี และถือเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกแห้วมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากแห้วมีราคาที่สูงขึ้นประกอบกับราคาข้าวมีราคาต่ำลง ส่งผลให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการทำนาข้าวมาทำนาแห้วมากขึ้น แห้วเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีด้วยรสชาติของแห้วที่มีรสชาติหวาน มัน กรอบ และเนื้อแน่นเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค แห้วสุพรรณได้ถูกส่งขายไปยังตลาดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ทั้งนี้เมื่อปี 2560 “แห้วสุพรรณ” ได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ปัจจุบันชุมชนสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารคาวและอาหารหวานหลากหลายชนิด เช่น ทอดมันแห้ว แกงส้มแห้ว ทับทิมกรอบ ทองม้วนแห้ว และยังสามารถผลักดันให้แหล่งผลิตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน ซึ่งสุพรรณบุรีได้เปรียบในแง่ภูมิศาสตร์ ที่สามารถปลูกพืชคุณภาพได้แบบที่ประเทศอื่นไม่สามารถปลูกได้
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรปลูกแห้วมาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาศักยภาพสินค้าปลอดภัย การขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ทั้งนี้ในปี 2566 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแห้วจัดตั้งเป็น แปลงใหญ่แห้วจีน ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้น มีสมาชิก 33 ราย พื้นที่เข้าร่วม 349 ไร่ ทั้งนี้เกษตรกรผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแปลงใหญ่ จะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการผลิตโดยตรง รวมถึงกรมส่งเสริมการเกษตรพยายามผลักดันให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ความปลอดภัยของทั้งตัวเกษตรกรเอง และความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งสมาชิกกลุ่ม ตอนนี้สมาชิกผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ประมาณ 20 ราย และอยู่ระหว่างการผลักดันให้ผ่านรับรองมาตรฐานครบทุกราย
ในการส่งเสริมด้านตัวผลิตภัณฑ์นั้น มีพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้า เป็นการสนับสนุนกลุ่มท่องเที่ยวของชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้ด้านการแปรรูป รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จากหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้วย ตลอดจนการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เป็นการจัดตั้งกลุ่มคลัสเตอร์แห้วขึ้น เป็นการรวม ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานราชการเข้ามาสนับสนุน สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือการต่อยอดไปในด้านการท่องเที่ยวของชุมชนมีการรวมตัวกันของคนในชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมขับเคลื่อน และได้จัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงเกษตรสร้างสรรค์สมหวังที่ตำบลวังยาง ขึ้นโดยมีกิจกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนวังยาง กระบวนการทำนาแห้วตั้งแต่ เพาะพันธุ์ ปักดำ เก็บเกี่ยว จนถึงแปรรูป ซึ่งสามารถงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม รวมถึงชุมชนได้เป็นอย่างดี
การขับเคลื่อนแห้วสุพรรณบุรีนั้น เป็นการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร สามารถสร้างจุดเด่น ทางการตลาด และการยอมรับจากผู้บริโภค