“H.A.G System ระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก” เป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จ ภายใต้การพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ สนับสนุนผ่านทุนยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ TED Youth Startup ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund) หรือ TED FUND ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
นางสาวรัฐภัทร์ จิตคงสง บริษัท เออาพีซี กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 76/1 ถนนพิเศษกิจ ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในนามผู้เสนอโครงการ “H.A.G System ระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก” กล่าวว่า ในการขอรับทุนสนับสนุนจาก TED FUND มีเป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรมการพัฒนาระบบการจัดการบริหารน้ำ ด้วยการพัฒนารูปแบบของประตูระบายน้ำ เป็นระบบไฮดรฮลิกและพัฒนาเทคโนโลยีโดยพัฒนาระบบการควบคุมการปฏิบัติงานของประตูระบายน้ำ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และ Smart Phone เพื่อเข้าถึงการควบคุมได้รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเปิดปิดของประตูระบายน้ำ
จากการดำเนินการวิจัยพัฒนาอย่างเข้มข้น ทำให้ H.A.G System ระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย และได้มีการนำไปติดตั้งเพื่อทดสอบระบบที่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการชลประทานฝายพญาโฮ้ง ตำบลชะรัด อำเภอกงกรา จังหวัดพัทลุง ดังนั้น เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund) หรือ TED FUND กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่โครงการชลประทานฝายพญาโฮ้ง เพื่อติดตามภารกิจการพัฒนา โดยมี นางสาวรัฐภัทร์ นำเยี่ยมชม และมี นายอภิชัย ช่วยเต้า นายช่างชลประทาน นายอภิชาติ เจ๊ะเร๊ะ รองนายกเทศมนตรีตำบลชะรัด และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
น.ส.รัฐภัทร์ กล่าวระหว่างการนำเยี่ยมชมว่า การติดตั้ง H.A.G System ระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก จะไม่มีโครงสร้างของคอนกรีตที่ไม่จำเป็น ประตูระบายน้ำแต่ละบานจะทำงานด้วยระบบไฮดรอลิกแบบแยกกัน และจะมีชุดควบคุมประตูทั้งหมดในครั้งเดียว
“ระบบนี้ สามารถช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการก่อสร้าง เนื่องจากระบบไฮดรอลิก ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างด้านบนเป็นคอนกรีต รวมถึงระบบยังมีห้องควบคุมอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลได้ตามสภาพภูมิศาสตร์ในการก่อสร้าง และการเข้าถึงการควบคุมทั้งระบบที่ไวและง่าย เพราะระบบควบคุมถูกรวมไว้ในจุด ๆ เดียว ในกรณีมีฝนตกฟ้าร้องหรือพายุเข้าพนักงานสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ ๆ ภายในห้องควบคุมได้”
“พร้อมกันนี้ ยังสามารถการบันทึกการปฏิบัติงานย้อนหลัง ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ แก้ปัญหาการทำงานซ้ำซ้อน การบันทึกระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำย้อนหลัง เพื่อนำข้อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการคาดการณ์และผลของการปฏิบัติงาน”
“ข้อดีของระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก จะมีการควบคุมการปฏิบัติงานของประตูระบายน้ำผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และ Smart Phone ซึ่งเข้าถึงการควบคุมได้อย่างรวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น เป็นการควบคุมแบบ Real time ทั้งยังสามารถบันทึกการเข้าปฏิบัติงาน ง่ายต่อการตรวจสอบ และลดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนและข้อมูลสูญหาย บันทึกระดับน้ำได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญแจ้งเตือนสถานะแบบ Real time ผ่าน LINE เมื่อมีกรณีฉุกเฉิน สามารถเข้าควบคุมปัญหาภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที” น.ส.รัฐภัทร์ กล่าว
ในการนี้ นายอภิชัย ช่วยเต้า นายช่างชลประทาน โครงการชลประทานพัทลุง สำนักงานชลประทานที่ 16 กรมชลประทาน กล่าวเสริมว่า หากมีการนำระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิกมาใช้จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องมาปิด-เปิดประตูระบายน้ำด้วยตนเอง แต่ควบคุมผ่าน Smart Phone อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ได้
ด้าน น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้จัดการ TED FUND กล่าวเพิ่มเติมว่า TED FUND ให้ทุนสนับสนุนโครงการ H.A.G System ระบบควบคุมประตูน้ำไฮดรอลิก เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการบริหารจัดการน้ำผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและเป็นการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นตัวเร่งสำคัญในการเพิ่มปริมาณการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจต้องการขอรับการสนับสนุนจาก TED Fund สามารถติดต่อได้ที่ Line official : @tedfund Facebook : TED Fund อีเมล : saraban_tedfund@mhesi.go.th เว็บไซต์ : www.tedfund.mhesi.go.th และโทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4075