กรมชลฯ ระดมทุกภาคส่วนเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพมโนรมย์-ช่องแค แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม

กรมชลประทานจัดปัจฉิมนิเทศเปิดเวทีระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน  กล่าวว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี เป็นโครงการย่อยของโครงการเจ้าพระยาใหญ่ตอนบนจาก 16 โครงการ มีอายุการใช้งานมาแล้วมากกว่า 60 ปี ปัญหาปัจจุบันระบบชลประทานของโครงการมีประสิทธิภาพลดลงไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการณ์ อีกทั้งคลองส่งน้ำฯ และอาคารประกอบใช้งานมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้อาคารชำรุดเสียหาย รวมถึงอาคารควบคุมมีสภาพชำรุดทรุดโทรม และคลองส่งน้ำบางสายยังเป็นคลองดิน คลองระบายน้ำมีสภาพตื้นเขิน ขนาดคลองแคบลง ปัญหาการบุกรุกเขตคลองระบายน้ำ คันคลองระบายน้ำบางช่วงต่ำ ท่อรับน้ำจากปากคลองมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เกิดปัญหาในช่วงฤดูแล้งถึงต้นฤดูฝน เกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำเข้าคลองเอง เนื่องจากระดับน้ำต่ำทำให้น้ำไม่เข้า ทรบ.ปากคลอง ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร และงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมโครงการฯ มีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้

นายสุรชาติ  กล่าวอีกว่า กรมชลประทานได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานให้มีความสอดคล้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองชัยนาท-ป่าสัก  ให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค ที่เชื่อมโยงกับระบบลำน้ำของโครงการข้างเคียงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความสมดุลระหว่างการใช้น้ำ การระบายน้ำ และการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาและการปรับปรุงระบบชลประทาน ระบบระบายน้ำ รวมถึงระบบลำน้ำที่มีอยู่เดิม การก่อสร้างอาคารกักเก็บน้ำในคลองระบายเพิ่มเติม การก่อสร้างสถานีสูบน้ำปลายคลองระบายน้ำลงคลองชัยนาท-ป่าสัก จะส่งผลดีต่อภาพรวมของโครงการฯ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ การสูบน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัยและเก็บกักน้ำเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้ การดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค มีระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2566 สิ้นสุดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567

การดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแคจะมีความเชื่อมโยงกันโดย โครงการส่งน้ำฯ มโนรมย์ รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองชัยนาท-ป่าสัก และโครงการส่งน้ำฯ ช่องแค รับน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก

(เกษตรก้าวไกล LIVE – สัมภาษณ์ นายสุรชาติ มาลาศรี ถึงกรณ๊การเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพมโนรมย์-ช่องแค แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม และสัมภาษณ์ นายประจวบ พวงสมบัติ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำเขาแก้ว ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/854787740142304)

(เกษตรก้าวไกล LIVE – นายสุรชาติ มาลาศรี กล่าวถึง การเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพมโนรมย์-ช่องแค แก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม (2) https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1912246299283086)

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ มีแผนงานปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 33 สาย ความยาว 215 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 24 สาย ความยาว 221 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,333.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 860.74 ล้านบาท,ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 369.98 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 4.45 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 98.34 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 281,805 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 64,437 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 352 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 143.43 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 330,314 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 32,681 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.89

ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค มีแผนงานปรับปรุง คลองส่งน้ำและอาคารประกอบ 26 สาย ความยาว 194 กิโลเมตร และปรับปรุงระบบคลองระบายน้ำและอาคารประกอบ 19 สาย ความยาว 237 กิโลเมตร ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 1,313.90 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบส่งน้ำ 808.85 ล้านบาท,ค่าลุงทุนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ 425.75 ล้านบาท, ค่าลงทุนด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำ 3.97 ล้านบาท และค่าลงทุนด้านอาคารสถานที่/ครุภัณฑ์/บุคลากร 75.33 ล้านบาท ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพชลประทานในพื้นที่โครงการ 245,320 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง 52,612 ไร่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 276 บาท/ไร่ คิดเป็นมูลค่า 111.53 ล้านบาท/ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่โครงการ จำนวน 280,770 ไร่ และสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 28,438 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.13

ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้นจะส่งผลให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ และลพบุรี สิงห์บุรี และพื้นที่ใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากโครงการฯ มีน้ำกิน น้ำใช้ เพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตรอย่างพอเพียง สร้างอาชีพและรายได้มั่นคง ประชาชนมีความอยู่ดี กินดี มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หากมีการพัฒนาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้งเป็น 64,437 ไร่ ส่งผลให้มีรายได้ด้านเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 143.43 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 352 บาท/ไร่ อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอุทภัยในพื้นที่ใครงการ 330.314 ไร่ สามารถลดพื้นที่น้ำได้ 32,681 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.89 จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์และช่องแค ได้ดียิ่งขึ้น

(ชมเกษตรก้าวไกล LIVE – นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวเปิดงานปัจฉิมนิเทศ https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1624609481814523)

นายอนิวรรต์ ไพรดำ ผู้จัดการแปลงใหญ่ข้าวตำบลสนามแจง หมู่ที่2 ต. สนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี กลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตคลองส่งน้ำ 14 ขวา กล่าวว่า ทางกลุ่มมีสมาชิก 20 ราย ได้มีการผลิตพันธุ์ข้าวปทุมธานี1 ให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวลพบุรี จำนวน 900 กว่าไร่ เกษตรกรใช้น้ำจากคลองชัยนาท ป่าสัก โครงการช่องแค คลองส่งน้ำ 14 ขวา ที่ผ่านมาเกษตรกรแทบจะไม่ได้น้ำจากคลองส่งน้ำ 14 ขวาเป็นหลักแต่ใช้จากคลองระบายที่แยกย่อยออกมาที่เป็นหัวใจหลักในการส่งน้ำมาให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าว และก็ต้องขอบคุณกรมชลประทาน ที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงคลองส่งน้ำ 14 ขวา ให้เป็นคลองส่งน้ำให้กับเกษตรกรเพื่อช่วยให้การเพาะปลูก การทำการเกษตรแบบยั่งยืนและ เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ดียิ่งขึ้น 

(เกษตรก้าวไกล LIVE – สัมภาษณ์นายอนิวรรต์ ไพรดำ https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1093294012394584

นางเพ็ชรัตน์ ทองมี กำนันตำบลโพธิ์ชัย อำเภออินทร์บุรึ จังหวัดสิงห์บุรี และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองส่งน้ำ 9 ขวา ชัยนาท-ป่าสัก กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความต้องการในเบื้องต้นคือการกำจัดวัชพืชที่มีในคลองเยอะ อยากให้มีการดาดคลอง จะทำให้วัชพืชไม่ขึ้น การไหลของน้ำจะไหลได้ดีขึ้น และธรณีประตูที่อยากทำให้ต่ำลง จะสามารถส่งน้ำเข้าไปในคลอง9 ขวา ได้ดีขึ้น ยังมีตรงพื้นที่ดงมัน อยากให้มีการปรับปรุงฝายน้ำ จากอันเดิมเก่ามาก อยากให้ทำประตูใหม่ ระบบจะได้ดีขึ้น หากมีการระบายน้ำ ส่งน้ำได้ดีจะทำให้ชาวบ้านที่เป็นเกษตรผลิตเมล็ดข้าวส่งศูนย์ข้าวชัยนาท สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ได้มากขึ้น

(เกษตรก้าวไกล LIVE -สัมภาษณ์นางเพ็ชรัตน์ ทองมี https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1068165025037256)

นายประจวบ พวงสมบัติ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำเขาแก้ว ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนึ่งชุมชนที่อยู่ในพื้นที่การปรับปรุงสถานีสูบน้ำเขาแก้ว จุดสำคัญในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ บอกว่า อยากให้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำเขาแก้ว ที่สร้างมาหลายสิบปีแล้ว อยากให้มีประสิทธิภาพได้ดีกว่านี้ สามารถสูบน้ำได้แบบต่อเดียว ที่ปกติต้องสูบน้ำสองต่อทำให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาระค่าไฟที่มีการใช้จ่ายที่สูง หากมีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำก็จะช่วยให้ชาวบ้าน เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ร.ต.ต.ดร.วิรัช โตอิ้ม นายกเทศมนตรีตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหัก กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เล็งเห็นความสำคัญโดยจะมาพัฒนาปรับปรุงคลองสูบน้ำ สถานีสูบน้ำบ้านเหล็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง สำหรับเทศบาลตำบลท่าน้ำอ้อยม่วงหักมีหน้าที่ช่วยดูแลกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำของบ้านเหล็ก หากมีปัญหาอะไรทางเทศบาลฯจะประสานงานกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของชลประทานให้กับเกษตรกร โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งผมได้สนับสนุนโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน โดยให้เงินทุนสำรองตั้งโครงการนี้ 600,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเราสามารถสูบน้ำและผันน้ำเข้ามาได้ ทุกวันนี้พี่น้องเกษตรกรดีใจที่มีน้ำใช้ในฤดูแล้งได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องเสียค่ากระแสไฟฟ้าเอง ทางกรมชลประทานไม่สามารถตั้งงบประมาณ มาช่วยเหลือได้ ซึ่งหากมีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำนี้ก็จะช่วยให้ประชาชน มีน้ำใช้ได่ง้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated