โครงการเรน(RAIN) ยกระดับทางเลือกแทนการเผาของเกษตรกรชาวนาไทย

วันที่ 1 ตุลาคม 2567 กรุงเทพฯ ประเทศไทย – โครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร หรือโครงการเรน  (USDA Thailand Regional Agriculture Innovation Network: RAIN) ซึ่งเป็นโครงการนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศในภาคการเกษตรกรรมระดับภูมิภาคกำลังส่งเสริมการแก้ไขมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาของเกษตรกรในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแข็งขัน

วันนี้ที่ “การะประชุมการลดมลพิษทางอากาศด้วยการหลีกเลี่ยงการเผาในภาคเกษตรกรรม” ซึ่งจัดโดย “Friends of Thai Agriculture” เครือข่ายสถานทูตและหน่วยงานระหว่างประเทศ โครงการเรนได้หารือเกี่ยวกับแนวทางทีมีพื้นฐานระบบตลาดนำเสนอทางออกจากการเผาของเกษตรกรด้วยการใช้จุลินทรีย์ เป็นทางเลือกโดยเฉพาะในกลุ่มชาวนาข้าว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบปัญหามลภาวะจากฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างรุนแรง นอกจากการจราจรที่คับคั่งตามเมืองใหญ่แล้ว การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังเป็นอีกสาเหตุของมลพิษทางอากาศซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

นอกจากนั้นการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรกรรมและความยั่งยืน เนื่องจากเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินและระบบนิเวศ เป็นเหตุให้เกษตรกรต้องพึ่งพาสารเคมีต่อเนื่องและทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้การเผาไหม้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนไดออกไซด์

โครงการเรนซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ Food for Progress ของกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (USDA) และดำเนินการโดยองค์การวินร็อค (Winrock International) โดยมุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมที่เท่าทันสภาพอากาศในภาคเกษตรกรรมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและลดผลที่จะทำให้สถานนการณ์ร้ายแรงขึ้น หนึ่งในนวัตกรรมดังกล่าวคือการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวแทนการเผา

การทดสอบภาคสนามของการใช้จุลินทรีย์โดยโครงการเรนแสดงว่าจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายตอซังข้าวได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลาให้เกษตรกรเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกข้าวรอบต่อไป นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูประชากรสัตว์ขนาดเล็กให้กลับคืนมาในแปลงปลูกข้าว โครงการเรนได้ร่วมมือกับผู้ผลิตจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาโมเดลธุรกิจหลายรูปแบบ เช่นการร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเข้าถึงและนำไปใช้เป็นอีกทางเลือกแทนการเผาไร่นา

โครงการเรนกำลังเปิดตัวกิจกรรม “no burn” ในกลุ่มชาวนาสำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวครั้งต่อไปในช่วงปลายปี 2567 กิจกรรมนี้มีเป้าหมายหลักที่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ซึ่งเป็นพื่นที่แถบลุ่มน้ำชีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันโครงการเรนมีส่วนร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในจังหวัดอื่น ๆ ทางภาคเหนือของประเทศด้วย

นายวิลเลียม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวว่าโครงการเรนได้ลงทุนด้วยเงินทุนสนับสนุนและการเข้าถึงเกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของข้าวเช่น หน่วยงานของรัฐ บริษัท องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มผู้บริโภค และองค์กรพัฒนา เพื่อแนะนำทางเลือกทดแทนการเผาให้แก่เกษตรกร

เขากล่าวว่า “โครงการเรนอยู่ระหว่างดำเนินงานอย่างแข็งขันเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้มีการใช้นวัตกรรมเป็นทางเลือกในการเผา โดยนำทักษะที่แต่งต่างขององค์กรต่าง ๆ มาผสานรวมและทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญนี้”

วันนี้ โครงการเรนได้จัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการเผาหลังการเพาะปลูกข้าว โดยมีผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน ได้แก่ รศ. ดร.กรรณิการ์ สัจจาพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณรัชฎา มีทองหลาง เกษตรกรจากจังหวัดขอนแก่น ดร.วิเชียร ยงมานิตชัย ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด คุณบอนด์ ไทยานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Agrimomo ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำชี และ ดร. พวงรัตน์ แก้วล้อม ผู้ร่วมก่อตั้ง Living Soil

คุณสปาร์กส์กล่าวว่า “การเผานาไม่อาจหยุดได้ด้วยวิธีแก้ปัญหาเพียงวิธีเดียว แต่เราสามารถเสนอทางเลือกอื่นที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับเกษตรกร ทางเลือกหนึ่งที่พอมีโอกาสคือการใช้สารละลายจุลินทรีย์ในการย่อยสลายฟางและตอซังอย่างรวดเร็ว งานเสวนาครั้งนี้จะสร้างความคืบหน้าให้เกิดความร่วมมือเพื่อหยุดการเผาไร่นาในประเทศไทย รวมไปถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

เครือข่าย Friends of Thai Agriculture เกิดจากความร่วมมือของที่ปรึกษาด้านการเกษตรจากสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น เรน, GIZ, DLG, Centre for Sustainable Agricultural Mechanization ของ UNESCAP, โครงการ GETHAC ภายใต้กระทรวงอาหารและการเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคณะผู้แทนสหภาพยุโรป โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated