กรมวิชาการเกษตรเร่งแก้ปัญหาโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน ระดมทดสอบวิธีป้องกันกำจัด พร้อมพัฒนาเทคนิคการตรวจพบเชื้อสาเหตุโรค ชะลอการเข้าทำลาย

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากปัญหาการระบาดของโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ได้สั่งการให้สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงานลงพื้นที่ร่วมกับสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งประเมินการเกิดโรค การเฝ้าระวังและป้องกันโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน และผลิตหัวเชื้อสดชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อการป้องกันหรือลดการแพร่กระจายของเชื้อในดินสนับสนุนให้แก่เกษตรกร สำหรับพื้นที่พบการระบาด ได้แก่ บริเวณจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สตูล ตรัง ระยอง สงขลา ชลบุรี พัทลุง นราธิวาส รวมพื้นที่การระบาดจำนวน 12,462 ไร่ โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่จังหวัดกระบี่และสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าพื้นที่การระบาดจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีพื้นที่ที่มีการติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการของโรคและพื้นที่ที่ยังสำรวจไม่พบอีกเป็นจำนวนมาก โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อเห็ดกาโนเดอร์มาสามารถเข้าทำลายปาล์มน้ำมันได้ทุกระยะการเจริญเติบโต หากไม่รีบหาวิธีควบคุมการระบาดจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มได้ กรมวิชาการเกษตรเห็นถึงความสำคัญดังกล่าวจึงเร่งระดมทดสอบวิธีการป้องกันกำจัด เพื่อชะลอการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุ รักษาสภาพต้นเพื่อให้ยังสามารถเก็บผลผลิตได้ รวมถึงการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่พบการระบาดด้วยวิธีการใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชฉีดเข้าลำต้นและการใช้ชีวภัณฑ์ ในการป้องกันการติดต่อทางระบบราก

“เบื้องต้นนักวิจัยกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาวิธีการตรวจสอบติดตามเชื้อสาเหตุ และทดสอบวิธีการชะลอการพัฒนาการของโรค จนได้วิธีการตรวจเชื้อและได้เทคนิควิธีการชะลอการพัฒนาของโรค ซึ่งจะสามารถยืดอายุการให้ผลผลิตและสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตของต้นที่เป็นโรคได้ รวมถึงวิธีการป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่พบการระบาดของโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตามวิธีการป้องกันกำจัดโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันต้องได้รับการทดสอบวิธีการเพื่อยืนยันผลอีกครั้งจึงจะสามารถออกเป็นคำแนะนำแก่เกษตรต่อไป

นอกจากนี้ ในระยะยาวกรมวิชาการเกษตรมีแนวทางพัฒนาวิธีการติดตามการระบาดโดยใช้โดรนเพื่อประเมินการเกิดโรค และกำหนดพื้นที่การระบาดบริเวณกว้างซึ่งในขณะนี้กรมวิชาการเกษตรสามารถพัฒนาเทคนิคการตรวจพบเชื้อแม้จะยังไม่แสดงอาการซึ่งจะสามารถใช้ยืนยันผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำและเฝ้าระวังการเกิดโรคจากภาพถ่ายทางอากาศได้ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการกับโรคได้อย่างทันท่วงที” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated