ซินเจนทา ผนึกกำลังพันธมิตร ผลักดันเกษตรกรไทยผลิตพืชผักอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practices) โดยมีตลาดรับซื้อรองรับผลผลิต ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง ผ่านโครงการ ‘เพาะดี กินดี’ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 516 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 120 ไร่ และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 2 เท่าตัว
นางสาววรรณภร วัฒนาเกษมสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เปิดเผยว่า “ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิด แต่เกษตรกรยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การระบาดของศัตรูพืช โรคพืช และวัชพืช และไม่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน เราได้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่เกษตรกรต้องเจอ โดยเฉพาะต่อเกษตรกรรายย่อยและแปลงเล็ก เราจึงร่วมมือกับพันธมิตร เช่น มูลนิธิรักษ์ไทย บริษัท คิวบ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ฟาร์มบุ๊ค” เทศบาลตำบลแม่แจ่ม และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ศึก จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาช่วยให้เกษตรกรรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยนำศักยภาพของเรามาสนับสนุนเกษตรกรผ่านทางโครงการ ‘เพาะดี กินดี’ เพื่อให้เกษตรกรไทยทำการเกษตรแบบปลอดภัยตั้งแต่ต้นน้ำของการผลิตคือเกษตรกรไปจนถึงปลายน้ำคือผู้บริโภค
โครงการนี้สอดคล้องกับหนึ่งในภารกิจหลักด้านความยั่งยืนของซินเจนทาที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (Higher Yields) ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Lower Impact) โดยเรามุ่งหวังในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย ให้สามารถผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพ มีโภชนาการที่ดีและปลอดภัยตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับเกษตรกรและพันธมิตรต่างๆ ในโครงการนี้ช่วยให้เราสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับภาคการเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง”
นายดิเรก เครือจินลิ ผู้ประสานงานโครงการสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับภาคการเกษตร โดยต้องเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ การนำพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงมาปลูกและมีตลาดรองรับการเพาะปลูก นอกจากนี้การรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยังช่วยให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาทักษะการทำการเกษตร เกษตรกรหลายรายสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าสองเท่าตัว ซึ่งโครงการ “เพาะดี กินดี” เป็นตัวอย่างสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเพาะปลูกของเกษตรกร และยังช่วยให้สามารถจัดการผลผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดอีกด้วย”
นายธิติพันธ์ บุญมี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ ผู้ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มทางธุรกิจเกษตร กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับซินเจนทาในโครงการเพาะดีกินดี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดย แพลตฟอร์มฟาร์มบุ๊คของเราช่วยเชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรกรไปสู่ตลาดที่ต้องการผลผลิตที่มีมาตรฐาน GAP โดยตรง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ด้วยการประสานให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ผันผวน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว”
นายปรีดา สมวถา ประธานกลุ่มวิสาหกิจผักปลอดภัยช่างเคิ่งบน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้เรียนรู้ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการจำหน่ายสู่ผู้บริโภค รู้จักวางแผนการเพาะปลูก การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และผลผลิตที่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดต่างจากสินค้าทั่วไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในผลผลิตของเรามากยิ่งขึ้น ตอนนี้พื้นที่ที่ใช้ปลูกผักในโครงการฯ มีประมาณ 3 ไร่ ปลูกผักสลัด 5 ชนิด มี กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัล ฟิลเลย์ และเบบี้คอส หมุนเวียนกันไป โดยการปลูกขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในช่วงนั้นๆ ซึ่งผักเหล่านี้เป็นผักที่ผู้บริโภคให้ความนิยม ทำให้มีรายได้จากตรงนี้มาจุนเจือครอบครัวมากยิ่งขึ้นและมั่นคงกว่าเดิม”
นายเสวตร์ ปิงกุล สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจผักปลอดภัยช่างเคิ่งบน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เราจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจภาคการเกษตรมากขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่หรือสมาร์ทฟาร์เมอร์ เนื่องจากเป็นอาชีพที่มีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการเพาะดี กินดี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเกษตรกรไทย ด้วยการให้ความรู้ที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน ส่วนตัวอยากให้มีตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) มากกว่านี้ เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าเกษตรกรมีความสนใจที่จะหันมาปลูกพืชผักเกษตรปลอดภัยมากขึ้น หากมีตลาดรองรับในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น”
“เราภูมิใจที่โครงการเพาะดี กินดี มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร และยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) เห็นได้จากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตที่มีคุณภาพ และการขยายพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น เราเชื่อว่าโครงการฯ นี้จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถทำอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีรายได้ที่มั่นคง และขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยและ มีคุณภาพ มีตลาดรับซื้อที่มั่นคง ซึ่งถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทยในอนาคต” นางสาววรรณภร กล่าวเสริม
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการ ‘เพาะดี กินดี’ ทั้งหมดจำนวน 516 ราย ครอบคลุมพิ้นที่กว่า 120 ไร่ ในอำเภอแม่แจ่ม และ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 1.6 ล้านบาท และได้ขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา น่าน และลำพูน พร้อมทั้งเตรียมขยายโครงการไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางภายในปี 2569 โดยมีเป้าหมายที่จะให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องได้ใบรับรองสินค้าเกษตรปลอดภัย (GAP) 90%