ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชี้สภาวะโลกร้อน ทำพื้นที่นาปีภาคเหนือตอนล่าง 6 จังหวัดลด เร่งช่วย หนุนชาวนาให้ปรับเปลี่ยนวิธีปลูก ใช้เทคโนโลยีใหม่ พร้อมพัฒนาพันธุ์ข้าวรองรับ ผลคืบหน้าโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้มอบท่อ PVC ให้ 200 ชาวนาที่เข้าร่วม

นางสาวชวนชม ดีรัศมี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กรมการข้าว เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การปลูกข้าวของชาวนาในเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน และตาก พบว่า ได้รับผลกระทบต่อภาวะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นอิทธิพลจากสภาวะโลกร้อน โดยในการผลิตข้าวนาปี ปีการเพาะปลูก 2566/67 ต้องประสบภาวะฝนทิ้งช่วง สภาพอากาศแล้งและร้อนจัด ทำให้ภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกข้าวลดลงร้อยละ 1.39 อยู่ที่ 4,240,420 ไร่ จากเดิมปีเพาะปลูก 2565/66 ที่ 4,300,055 ไร่

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก กล่าวต่อไปว่า โลกร้อนเป็นสภาวะที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบ และสร้างความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกข้าว ที่ต้องประสบปัญหา ทั้งฝนทิ้งช่วง หรือน้ำท่วม ทำให้เกิดความเสียหาย และผลผลิตลดลง ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาทิ เลือกพันธุ์ข้าวใหม่ที่เหมาะสม กับสภาพภูมิประเทศ และสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุน ทั้งการปรับเปลี่ยนอัตราการใส่ปุ๋ยเคมี การจัดการธาตุอาหารในดินอย่างสมดุล พัฒนาระบบชลประทานแบบประหยัดน้ำ การใช้น้ำแบบหยด การจัดการน้ำในนาแบบน้ำหมุนเวียน การป้องกันโรคและแมลง ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มความยั่งยืนในการผลิต

“ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก มีความพร้อมในการส่งเสริมและให้ข้อแนะนำแก่ชาวนา เพื่อปรับตัวกับภาวะโลกร้อน ทั้งการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ที่ทนต่อสภาพอากาศแล้ง น้ำท่วม รวมถึงอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและยังให้ผลผลิตสูง เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นตัวเลือกในการเพาะปลูก รองรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีผลิตข้าวสมัยใหม่ เช่น ปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ ช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 20-25% ลดค่าเชื้อเพลิงในการสูบน้ำได้ 45-50% ลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดวัชพืชได้ 80% การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เป็นการลดอัตราการใช้ปุ๋ยในนา โดยการใส่ปุ๋ยที่มีอัตราไนโตรเจนมากเกินไป จะเป็นการเพิ่มการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ในแปลงนา” นางสาวชวนชม กล่าว

นางสาวชวนชม กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้ส่งเสริมให้มีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ที่ช่วยทำให้ประหยัดน้ำ ลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว อีกทั้งผลผลิตข้าวสูงกว่าการทำนาแบบเดิม ซึ่งในปี 2567 ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ได้จัดทำท่อ PVC เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่รับผิดชอบทั้งในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 200 ราย พื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่
