กฟก.รุกปี 68 เดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภายใต้งบกว่า 233 ล้านบาท

เลขาธิการ กฟก. เดินหน้าสนับสนุนอาชีพและพัฒนาเกษตรกร ทั้งด้านปศุสัตว์ ประมง และปลูกพืช 1,840 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 233 ล้านบาท พร้อมขานรับนโยบายประธานบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เน้นผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืน เพื่อช่วยปลดหนี้สิน

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวถึงภารกิจด้านการฟื้นฟูอาชีพ และพัฒนาเกษตรกร ที่จะต้องเร่งดำเนินการในปี 2568 ว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2544 และฉบับที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2563 มีวัตถุประสงค์ให้ กฟก. มีภารกิจหลัก 2 ด้านคือ 1. การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2. การจัดการหนี้ของเกษตรกร ซึ่งภารกิจดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่กันไป

ทั้งนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ให้นโยบายว่าการสนับสนุนอาชีพเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่มากพอ ก็จะมีเงินไปใช้หนี้ได้ จะทำให้ไม่เป็นหนี้เสีย และลดภาระงบประมาณในการจัดการด้านหนี้

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในปี 2568 มีจำนวน 1,840 โครงการ งบประมาณดำเนินการ 233,232,000 บาท จากยอดงบประมาณทั้งหมด 1,779 ,968,000 บาท โดยเน้นสนับสนุนทั้งด้านการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ประมง และการเกษตรด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิก มีเงินทุนหมุนเวียนในอาชีพของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ในอนาคต

เลขาธิการ กฟก.กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ หรือตั้งแต่ปี 2549-2567 มีการอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้แก่องค์กรเกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 12,375 โครงการ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 593,989 ราย ใช้งบประมาณไป 1,528,860,385 บาท แยกเป็น 1.โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2549-2566 เป็นโครงการงบอุดหนุน ซึ่งเป็นเงินเพื่อสนับสนุนพัฒนาองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง จำนวน 9,561 โครงการ มีผู้เข้าร่วม 509.989 ราย งบประมาณ 407,924,964 บาท และเป็นโครงการงบกู้ยืม เป็นเงินที่ให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืมเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร จำนวน 2,751 โครงการ ผู้เข้าร่วม 82,780 ราย งบประมาณ 1,090,934,421 บาท และ 2.โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2567 เป็นโครงการงบกู้ยืม 63 โครงการ ผู้เข้าร่วม 933 ราย ใช้งบประมาณ 30,000,000 บาท

“ปีหน้า 2568 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กฟก.ทุกฝ่าย ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอาชีพและดูแลปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรทั่วประเทศต่อไป โดย กฟก. มีสำนักงานสาขาทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้บริการแก่องค์กรเกษตรกรและสมาชิกในพื้นที่ทั่วประเทศ  เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน หรือ ต้องการพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรรมสามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ที่โทรศัพท์ 02-158 0342 ในวันและเวลาราชการ หรือ ติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัด ได้ทั้ง 77 จังหวัด” เลขาธิการ กฟก.กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated