วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานเฉลิมฉลองวันดินโลก ประจำปี 2567 (The Global Celebration of World Soil Day 2024) ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ภายใต้ห้วข้อ “ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน“ (Caring for soils: measure, monitor, manage) ระหว่างวันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2567 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธานแห่งพระบรมราชนกนาถ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและการพัฒนาที่ดินอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของดินและปกป้องรักษาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ 

โดยมี นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

โอกาสนี้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร และของที่ระลึกวันดินโลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน Mr. Jong-Jin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กราบบังคมทูลรายงานสารวันดินโลก โดยมีการเชื่อมสัญญาณสดผ่านระบบ zoom meeting กับพิธีเฉลิมฉลองวันดินโลกในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยมีเจ้าฟ้าชาย อับดุลลาซิส บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงานและพระราชทานพระราชดำรัส และมีการถ่ายทอดสัญญาณช่วงการเฉลิมฉลองของทั้งสองประเทศไปยังทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ

ในการนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดงาน ความว่า “ดินเป็นทรัพยากรที่ทรงพลังสามารถสร้างและรักษาชีวิต เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ สัตว์และพืช ดินที่สุขภาพดีเป็นรากฐานที่สำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาและความมั่นคงทางอาหาร ในขณะเดียวกัน ถ้าดินที่เสื่อมโทรมจะสามารถทำลายทุกชีวิตได้เช่นเดียวกัน เช่น การชะล้างพังทลายของดิน และดินเสื่อมโทรม เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องอนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูเพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจ ดูแลดิน ให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืน ซึ่งส่งผลถึงความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี” 

จากนั้น ทรงพระราชทานเหรียญรางวัล King Bhumibol World Soil Day Award ประจำปี 2567 และรางวัล Glinka World Soil Prize ประจำปี 2567 และเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการต่าง ๆ ภายในงาน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาที่ดิน และพระราชกรณียกิจที่สำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการวันดินโลกและผลงานผู้ชนะรางวัล นิทรรศการวิชาการ “ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน” โอกาสนี้ ทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นดินเหนียว และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารฯ คณะกรรมการจัดงานฯ และผู้แทนจาก FAO นายอัครา รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กราบบังคมทูลรายงานถึงแนวคิดหลักของการจัดงาน ซึ่งมุ่งเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวันดินโลก โดยจัดงานเฉลิมฉลองร่วมกับประชาคมโลก เพื่อเน้นย้ำความสำเร็จของการพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ดิน และน้ำ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา และความมุ่งมั่นในการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่อนาคต สำหรับการจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลก ประจำปี 2567 (The Global Celebration of World Soil Day 2024) เป็นวาระสำคัญ ในการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของการประกาศวันดินโลก ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จ-พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award) และส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน โดยเน้นความสำคัญกับ “การดูแลรักษาดิน” ต้องรู้จักสมบัติดินแต่ละชนิด โดยอาศัยกระบวนการสำรวจ วิเคราะห์ ประเมินที่มีมาตรฐาน เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางมาตรการจัดการดินได้อย่างแม่นยำ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated