พามุดไปดูหัวเผือกอายุ 4เดือนครึ่ง

ทีมงานเกษตรก้าวไกลและเพื่อนสื่อมวลชนเกษตร ขับฟอร์ด เอเวอเรสต์ titanium มุ่งหน้าไปยัง อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี เพื่อจะไปดู “เผือกหอมเงินแสน” ของเกษตรกรคนเก่งแถมหัวไวใจสู้อย่าง พี่มานะ รอดมาดี สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือว่าเต็มไปด้วยป่าอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเขตนี้และอีกนัยหนึ่ง “เลาขวัญ” นั้นยังได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอีสานของเมืองกาญจน์ เพราะว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งน้ำกว่าใครอื่นเขาหากเทียบกับหลายอำเภอแล้วจึงไม่แปลกหากพืชหลักของที่นี่จะเป็นอ้อยโรงงานตามที่ได้เห็นสองข้างทาง แต่มันก็แปลกที่อยู่ ๆ มีการปลูกเผือกหอมในเขตนี้และยังได้ผลดีมาก ๆ อีกด้วยนะ!

“ผมกลับจากทำงานมาอยู่บ้านได้สักระยะหนึ่ง ก็ลองจับพืชไร่ทำดู ซึ่งปรากฏว่าแต่ละตัวมันไม่ตอบโจทย์พอดีมารู้จักกับเผือกมีพี่คนหนึ่งเขาแนะนำให้ทำ ผมเปิดใจลองทำสักไร่นึงก่อน เหมือนทำไปศึกษาไปผลตอบรับมันโอเคครับ อัตรารายได้ต่อไร่มันสูงก็เลยปลูกเผือกเป็นอาชีพหลักมาเลย”

“ครั้งแรกจริง ๆ ยังไม่ถึงกับเปิดใจเสียทีเดียวแต่อยากลองดู เพราะเรามีระบบน้ำและน้ำพร้อม องค์ความรู้เราก็พอจะหาได้ ก็เลยปรึกษาคนที่แนะนำมา(เถ้าแก่ปัจจุบัน) มีอะไรก็โทรไปถามเขา ศึกษาตามยูทูบและอื่น ๆ ควบคู่บ้าง ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครทำเลยในเขตนี้ถือว่าเราเป็นเจ้าแรก เริ่มต้นคร็อปแรกก็คือมันก็สำเร็จในระดับหนึ่งเลย ได้เผือกเบอร์รวม ๆ ไปไม่ถึงกับใหญ่ผลตอบรับถือว่าโอเคเมื่อเทียบกับพืชอื่น ๆ ราคาที่ได้ ณ ขณะนั้นคือ 32 บาท/กก. ได้เงินเกือบ ๆ แสนจากพื้นที่ผลิตเริ่มต้นเพียงไร่เดียว” พี่มานะ ร่ายยาวให้เราฟัง

เทคนิคการปลูกเผือกแบบตอเดิม(ไม่ต้องปลูกใหม่)

พี่มานะนำชมแปลงเผือกหอมรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว บนเนื้อที่ประมาณสัก 3 งานเศษที่อยู่ใกล้ๆบ้านพัก  “ปลูกเผือกนี่เราจะต้องเตรียมดินจะต้องเดินระบบน้ำใหม่แต่แปลงนี้ก็คือ ผมอยากลองครับก็คือขุด “แม่”(หัวเผือก) ออกไปแล้วแต่ว่าผมใช้ “ลูก” ที่ขึ้นมารอบ ๆ โคนต้นหลังจากที่ตัดเอาหัวเผือกออกไปแล้ว เดินระบบน้ำ โดยช่วยลดต้นทุนในการผลิต เรื่องการไถเตรียมแปลงใหม่ เราก็จะมีลูกเผือกเก่าที่มันจะขึ้นเยอะเราก็มาตกแต่งออกในระยะที่เราคิดว่ามันเหมาะสม แล้วเราก็ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ไปตามปกติทำเหมือนการปลูกใหม่ เราก็อยากจะลองดูว่ามันจะได้หรือประสบความสำเร็จขนาดไหน”แต่ว่าเบื้องต้นที่เห็นได้ชัดเลยคือเรื่อง การเจริญเติบโต อาจจะสู้ที่เราเตรียมดินปลูกใหม่ไม่ได้เรื่องแรกเลย พอพ้นจากนั้นมาถึงช่วงของการที่ต้องเริ่มให้ปุ๋ย เริ่มฉีดยาเพื่อป้องกันโรค-แมลงต่าง ๆ ก็คือจะให้ตามปกติ ก็ต้องไปรอวัดกันตอนได้อายุ (6 เดือน) แล้ว ตอนนี้ได้แน่ ๆ เลยคือช่วยลดต้นทุนไปกว่าพันกว่าบาทสำหรับการเตรียมแปลง ลดค่าลูกพันธุ์ที่ไม่ต้องซื้อปลูกใหม่ซึ่งต้องใช้มากถึง 100 กก./ไร่ รวม ๆ แล้วช่วยประหยัดไปได้มากถึงกว่า 3,000 บาท เราไม่ต้องใช้คนปลูกด้วยเพราะว่ามันขึ้นเองของมันอยู่แล้ว“ซึ่งเทคนิคนี้ยังไม่มีใครทำ ไม่มีคนกล้า แต่ว่ามันเป็นแปลงเล็กผมก็อยากลองดูครับเป็นแค่แปลงเล็ก ๆ ก่อน”

เกษตรก้าวไกล LIVE — เทคนิคการปลูกเผือกแบบตอเดิม(ไม่ต้องปลูกใหม่) https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/561287519854568

การจัดการดูแลเผือกหอม “พืชปราบเซียน” แห่งเลาขวัญ

จริง ๆ แล้วการปลูกเผือกสำหรับ อ.เลาขวัญ มันเป็นสิ่งใหม่เลยก็ว่าได้ ผมเริ่มมาได้ประมาณ 5 ปีตั้งแต่ยังไม่มีใครเริ่มทำเพราะว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง อยากลองอะไรที่ใหม่ ๆ กว่าที่คนพื้นที่เขาทำอยู่ ก็เลยทำคร็อปแรกมันค่อนข้างประสบความสำเร็จผมก็เลยต่อยอดมาเรื่อย ๆ เพิ่มพื้นที่ปลูกมาเรื่อย ๆ ส่วนมากเผือกจะมีต้นทุนในเรื่องของ “ปุ๋ย-ยา” ที่ใช้ในการดูแลถือว่าเป็นหลัก ๆ เลย ค่าแรงงานก็รองลงมาถ้าหากว่าเราไม่ได้ทำเอง ถ้าทำเยอะก็ต้องมีค่าแรงหรือมีคนงานเป็นของตนเอง“ปัญหาของเผือกที่หลัก ๆ ก็จะมีเรื่องโรคของเผือกที่ประจำก็คือ โรคตากบ-ตาเสือ ช่วงปลูกผ่านฝนที่มักจะต้องเจอ วิธีจัดการผมเน้นป้องกันก่อนครับไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเมื่อไรที่มันเกิดมาแล้วมันจะควบคุมยากมากผมก็ฉีดยาตามรอบระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ โรคพวกนี้ที่เราจะเจอในช่วงฝนที่ฝนตกชุก ๆ อย่างมรสุมเข้าถ้ามันนานเป็นวัน “คืนเดียว” มันสามารถไปหมดแปลงเลย ไวขนาดนั้นเลยครับ ถ้ามันไม่เปิดให้เราฉีดยา ความเสียหายคือก็เก็บเกี่ยวได้แหละแต่ทว่าผลที่ได้มันจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เยอะครับจาก 4 ส่วนอาจจะเก็บได้แค่ 1 ส่วนอย่างเนี่ยะครับ” หลัก ๆ ก็คือโรคตากบ-ตาเสือแล้วก็เรื่องเน่าโบ๊ะ 2 อย่างนี้ ซึ่งเน่าโบ๊ะก็คือส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะเกษตรกรเจ้าของแปลงผลิตเองด้วยอยากทำเผือกให้ใหญ่ ให้ได้ราคา “คือใส่ปุ๋ยโดยที่ไม่ได้รู้อะไรเลยก็ใส่อย่างเดียวอัด ๆ ปุ๋ยเข้าไปเพื่อหวังว่าจะเร่งให้โตเร่งให้งามขึ้นไปอีก ยิ่งงามยิ่งใส่ อยากได้หัวไซซ์ที่มันแพงที่สุด ปรากฏว่า ปุ๋ยที่เราใส่ไปมันไม่สามารถนำไปใช้ได้หมด มันก็จะเหลือตกค้างอยู่บนพื้นดินเนี่ยแหละ มันก็จะเป็นพิษกับพืชที่เราปลูกทำให้เกิดเชื้อโรค”

แปลงของผมเองเรื่อง “น้ำ” จะให้อย่างเผือกเล็กก็ให้แบบพอชื้น อย่าง “ปุ๋ย” จะไม่ใช้พวกสูตรที่มันสูงก็จะใช้ปุ๋ยสูตรต่ำ ๆ เพราะว่าเวลาพืชมันนำไปใช้ มันจะใช้ได้หมด เหลือก็ตกค้างแค่นิดหน่อย อย่างช่วงแรกก็คือใส่ปุ๋ยสูตร 27-0-0 เหมือนกระตุ้นให้เผือกใบเขียวงามขึ้นมา คือพอเราเห็นว่าต้นเริ่มขึ้นเป็นแถวมาแล้วก็ใส่ จากนั้นเราก็ดูว่าพอเผือกเริ่มมีกอก็จะเริ่มเปลี่ยนปุ๋ยที่ให้เป็นสูตร 12-5-8 พวกนี้เป็นปุ๋ยสูตรต่ำ ๆ ใช้ไปจนกระทั่งเผือกต้องการสร้างต้น-สร้างกอแล้วเราก็ใช้ตัวหน้า(N) สูงหน่อย แล้วก็ให้เรียงตัวท้าย(K) ไว้บ้างพอให้มันมี “แป้ง” ได้สร้างบ้างนิดหน่อยแต่ว่าในช่วงนี้ให้เน้นตัวหน้ามากกว่า ก็จะใส่รอไปประมาณ 3 เดือน พอเผือกเริ่ม “กอ” พออายุ3 เดือนเผือกจะเริ่มสร้างแป้งเยอะเราก็เปลี่ยน ต้นเราไม่ต้องการแล้ว เราต้องการหัวต้องการเนื้อ ก็เปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 10-3-17 พวกนี้ให้ตัวท้าย(K) มันเยอะขึ้น แล้วก็จะมี 7-7-12 พวกนี้ ส่วนเรื่องการให้น้ำพออายุ 3 เดือนไปแล้ว น้ำก็จะให้มากกว่าเก่าหน่อยสมมุติจาก 1 ชั่วโมงอาจจะเพิ่มเป็น 2 ชั่วโมงหรือ 2-3 ชั่วโมง/ครั้ง ต้องดูที่สภาพอากาศด้วยคือจะดูหลาย ๆ อย่างเป็นองค์ประกอบ

1 ปีทำเผือกหอมโกยเงินได้ 2 รุ่น

ถ้าพื้นที่เดียวกันมันก็จะทำได้ประมาณ 2 รุ่นต่อปี“เกษตรกรเก่า ๆ ที่เขาทำมาแล้วหลายปีเขาก็จะดัก “ราคาดี” เผือก เท่าที่ผมทำมา 5-6 ปีเนี่ย เผือกจะแพงช่วงตรุษจีนหรือช่วงกุมภาฯ เผือกพวกนี้จะต้องผ่านตากบ-ตาเสือ ผ่านโบ๊ะ ผ่านช่วงฝนหนัก ๆ มาครับพอใครทำรอดไปถึงตรุษจีนได้ ก็คือช่วงนั้นก็จะได้ราคาครับ แพงสุดอย่างปีที่แล้วแพงสุดก็มี 70 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ช่วงพีกสุด แต่ถ้าช่วงราคาลงเยอะสุดก็จะเป็นช่วงเมษา-พฤษภาฯ พวกนี้เพราะว่าเผือกเวลาหลุดฝนมาคนก็เริ่มปลูกกัน ทุกที่ปลูกหมดปลูกง่ายทำผลผลิตได้อย่างเงี้ยครับ มันก็จะออกไปแบบว่าออกไปอยู่ในตลาดเยอะนั่นแหละครับ ความต้องการมีน้อยเวลาเผือกออกไปเยอะเผือกก็จะถูกครับ” ถ้าเป็นในช่วงสภาวะปกติราคาเคยลงไปถึง 15 บาท/กก. แต่ว่าผมเคยได้อยู่ 8 บาท/กก. ช่วงนั้นเป็นปีที่มีโควิด-19 กำลังระบาดพอดี ส่วนในช่วงราคาทั่ว ๆ ไปโดยเฉลี่ยต่อปีของเผือกก็จะอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาท/กก. ประมาณนี้ ซึ่งถ้าราคานี้สำหรับเกษตรกรถือว่าอยู่ได้ แต่ว่าเราก็ต้องทำเผือกของเราให้ได้หัวที่เป็นขนาดของเผือกใหญ่

พาไปดูแปลงปลูกอายุ 4 เดือนครึ่ง พร้อมผ่าพิสูจน์เผือกคุณภาพ

บทพิสูจน์ถึงผลผลิตที่ได้อย่างมีคุณภาพของพี่มานะได้พาพวกเราไปดูเผือกในแปลงใหญ่ ซึ่งตอนนี้มีอายุได้ประมาณ 4 เดือนครึ่งแล้ว และคาดว่ารุ่นนี้ก็น่าจะไปทันช่วงราคาดี “ตรุษจีน” ที่กำลังจะถึงด้วย ซึ่งราคาเผือก ณ วันที่พวกเราไปเยี่ยมชมแปลงทราบว่าอยู่ที่ประมาณ 60 บาท/กก. แล้วพี่มานะบอกว่าเดี๋ยวรอลุ้นกันอีกทีตอนขุดขาย อายุครบ 6 เดือนแล้วอีกทีหนึ่ง โดยครั้งนี้เจ้าของแปลงยังได้ตัดหรือขุดเอาหัวเผือกในแปลงอายุ 4 เดือนครึ่งมาเพื่อจะผ่าให้พวกเราได้เห็นถึงเนื้อที่อยู่ข้างในด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็ไม่ทำให้ผิดหวังจริง ๆ ซึ่งหัวที่ตัดมาเจ้าตัวบอกน่าจะได้ราว ๆ กิโลกว่าแล้วสำหรับเผือกหัวนี้ ผ่าดูก็จะเห็นว่าแป้งเริ่มขึ้นมาเต็มหัวดีแต่ว่าด้วยความที่ยังไม่ครบกำหนดเก็บเกี่ยว ต้องให้ได้ถึง 6 เดือนก่อนเพื่อให้เผือกข้างในให้เนื้อที่มีความฟูความเหนียวให้ทั่วทั้งหัวก่อน อย่างหัวนี้ถ้าให้บอกว่ากินได้เลยไหมพี่มานะบอกว่าก็กินได้แต่ส่วนที่ตอนนี้จะอร่อยเลยคือ ช่วงกลาง ๆ ของหัวแค่นั้นส่วนนอกนั้นโดยเฉพาะริม ๆ ของหัวในช่วงติดกับโคนต้นยังจะเป็นเนื้อแบบเละ ๆ อยู่ยังไม่ฟูไม่เหนียวดีเพราะอายุยังไม่ครบกำหนด จากนี้ถ้ารอไปอีกจนถึงเก็บเกี่ยวได้ซึ่งก็จะได้ขนาดหัวที่ใหญ่ขึ้นไปอีกเกือบ ๆ ถึง 2 กิโลกรัมได้ สีสันของเนื้อข้างในก็จะมีสีเข้มขึ้นอีกเนื้อก็จะฟูเต็มหัวไปอีก จากผลผลิตเฉลี่ยที่ตนเองทำได้อยู่ตอนนี้ก็ประมาณ 3-4 ตัน/ไร่ ถ้าตัดเผือกได้ราคาดีก็มีลุ้น “ไร่เกินแสน!” หรืออาจมากกว่า ซึ่งเผือกยังสามารถไว้หัวต่อเนื่องไปอีกเพื่อรอราคาดีได้ในกรณีของอายุครบตัด 6 เดือนแล้วแต่ว่าก็ยังไม่ตัด แต่ส่วนมากถ้าได้ราคาในเขตนี้ก็มักจะตัดกันที่ 6 เดือนให้จบรุ่นไปเลย ข้อดีอีกอย่างของเผือกที่ปลูกได้ในเขต อ.เลาขวัญ ก็คือสามารถยืดอายุหรือการมี shelf life หลังอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ได้นานกว่าเผือกที่ปลูกในเขตอื่นด้วย

เกษตรก้าวไกล LIVE – โชว์ขุดเผือกอายุ 4 เดือนครึ่ง ผ่าพิสูจน์คุณภาพ ใกล้จะได้ขายแล้ว https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/606329885063846

เทคนิคสำคัญที่ชาวไร่เผือกหอมจะต้องทราบเอาไว้ “รู้ก่อน-รวยก่อน”

ด้าน คุณแมน-กฤตภาส พรามพิทักษ์ จากบริษัท สองเอ็ม อะโกรเท็ค จำกัด ซึ่งก็ได้ร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า การปลูกเผือกหอมปัจจัยหลัก ๆ ที่เจ้าของแปลงจะต้องรู้ให้เท่าทันก่อนเลยก็คือ การใส่ปุ๋ย ให้สังเกตจากตรงนี้ถ้าเราใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากเพื่อจะเลี้ยงต้นให้สวยปัญหาที่ตามมาก็คือ ปุ๋ยเคมีมักจะตกค้างเราจะเห็นได้จากพื้นดินที่มี “ตะไคร่สีน้ำเงิน” คอยคุมอยู่ถ้าเรารู้ต้นเหตุของการเกิด ตะไคร่สีน้ำเงินเป็นตะไคร่สีเขียวแกมน้ำเงินที่กินแอมโมเนียเป็นอาหารเพราะฉะนั้นเวลาที่ ตะไคร่สีเขียวแกมน้ำเงินเกิดที่พื้นเยอะเมื่อไหร่นั่นคือสัญญาณเตือนว่า “โรคเน่า” มักจะมาก็คือ โรคโบ๊ะ (ไฟตาเลียม) ที่เราเจอกันในโรคเน่าคอดิน หรือไม่ก็ “ตากบ-ตาเสือ” “ตรงนี้สำคัญมากถ้าเราไม่รู้สัญญาณเตือน เรายังเติมปุ๋ยให้อยู่มันก็จะเกิดอาการเน่าเสียหายทั้งแปลง แล้วมันจะมีข้อต้องห้ามปุ๋ยที่ไม่ควรใส่ในระยะพืชเริ่มเป็นหัวก็คือ ปุ๋ยที่มีแอมโมเนียสูง เช่น 21-0-0 ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังชอบใช้อันก็เป็นต้นเหตุ ไม่ควรจะใส่แอมโมเนียเข้าไปเยอะ”ประเด็นที่สองก็คือการเลือกใช้ “อะมิโน” ในท้องตลาดทั่ว ๆ ไปเราควรจะใช้อะมิโนเฉพาะย่อยธาตุอาหารหลัก อันนี้เราต้องมีความรู้นิดหนึ่งถ้าเราไปซื้ออะมิโนรวมมาฉีด ปัญหามันคืออะไร การแตกหน่อตะเกียงหรือว่าการแตกหน่อขณะที่กำลังให้หัว-สะสมหัว เราจะขาดทุน! เพราะได้กำไรน้อยมากเลยต้องเลือกใช้ปัจจัยให้เป็น “ใช้ให้ถูกวิธี แล้วจังหวะของการจัดการเรื่องการใส่ปุ๋ยในแต่ละช่วงฤดูกาลนะครับ อย่างช่วงฤดูหนาวอย่างฤดูนี้ถ้าเราใส่ปุ๋ยอย่างเดียวโดยที่ไม่มีจุลธาตุเข้าไปควบคู่ ปัญหาก็คือต้นไม้มักจะไม่ได้รับปุ๋ยเพราะเราอย่าลืมว่า “ธาตุอาหาร” มันเดินทางเป็นกลุ่มถ้าเราใส่ปุ๋ย แต่ไม่มีจุลธาตุเข้าไปต้นไม้มันเหมือนกับที่ชาวบ้านเรียกว่า มันไม่กินปุ๋ย แล้วต้นไม้มันจะเหลืองมันจะชะงัก สิ่งนี้คือเราต้องเรียนรู้เรื่องจุลธาตุเข้าไปควบคู่ก็คือฤดูหนาว ต้องมีการใช้ “ซิงค์” เข้าไปด้วย เพราะซิงค์จะเป็นตัวกระตุ้นให้พืชรับธาตุอาหารได้ในช่วงที่อากาศสวิงซ์แกว่ง ๆ ตอนเช้าหนาว ตอนบ่ายร้อน พืชจะเกิดความเครียดก็จะช่วยลดความเครียดได้ ทีนี้เราย้อนกลับไปช่วงฤดูฝนการใช้ปัจจัยการผลิตสำคัญเป็นข้อผิดพลาดที่เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกเผือกหรือว่าทุกพืชก็ได้ “ถ้าเราผ่านพายุฝนในช่วงที่ฝนตกมายาวนานหลาย ๆ วัน ดินอิ่มน้ำ ในอณูของดินมันจะไม่มีช่องอากาศที่ให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เติบโตขึ้นได้เลย จุลินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นจุลินทรีย์ไม่ต้องการอากาศมันจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่สูง ตัวที่ก่อให้เกิดโรค เพราะฉะนั้นหลังฝนตกเกษตรกรใส่ปุ๋ยคือพลาด! คุณจะไปบูมหรือไปบูสเชื้อโรคเนี่ยให้มันมีปริมาณมาก สังเกตเห็นว่าทุกพืชเวลาใส่ปุ๋ยหลังพายุมาน้ำแช่หลาย ๆ วัน โรคเน่าจะตามมาโดยเฉพาะเผือก” อย่างที่พวกผมทำกันเราออกไปแนะนำเกษตรกรก็คือ เมื่อไหร่ที่ฝนตก สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือปรับสภาพดินห้ามใส่ปุ๋ย คุณใส่จุลธาตุนำหน้าไปเลยเท่าที่คุณมี เท่าที่คุณหาได้ จะดีมากน้อยขึ้นอยู่กับจุลธาตุที่คุณเอามาใส่ อย่างที่สองฉีดยาลดเชื้อราซึ่งคุณต้องกำจัดเชื้อรา ให้มันปริมาณน้อยลงไม่สามารถที่จะเข้าทำลายผลผลิตของเราได้ แล้วเว้นช่วงให้ดินแห้งหมาดพออย่างน้อย 7-10 วัน แล้วเราค่อยมาใส่ปุ๋ยตามช่วงอายุของพืชคราวนี้เราก็จะปลอดภัยจากโรค “อย่างที่เราทำแปลงตัวอย่างที่เราเห็นเนี่ย คุณมานะเนี่ย เราแช่ฝนกันเป็นเดือนแล้วน้ำขังด้วยนะครับหลายรอบ ไม่เน่า ไม่โบ๊ะ ไม่เป็นตากบ-ตาเสือแม้แต่ต้นเดียว อันนี้คือสิ่งที่เห็นประจักษ์ว่าถ้าเราจัดการอย่างถูกต้องเนี่ย ของดีมีครับบนโลกนี้ แต่ไม่มีของวิเศษ ต้องใช้ควบคู่กับความรู้ด้วยครับ”

หากใครที่สนใจพืชเศรษฐกิจทำเงิน รายได้งามต่อพื้นที่ผลิตไม่ต้องใช้มากนักสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่พี่มานะ “คุณมานะ รอดมาดี” ไร่กิตติภูมิฟาร์มกิติธัช ตั้งอยู่เลขที่100 หมู่1 ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี โทร. 089-745-3014 หรือ 089-733-5188 (คุณแมน2M)

ขอบคุณ ภาพ/ข่าว อำพา วงศา และทีมงานเกษตรก้าวไกล ไปด้วยกัน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated