เอ็นไอเอ หนุนการใช้ดีพเทคแก้ปัญหาภาคเกษตร – สร้างโอกาสโตไวในตลาดอาเซียน พร้อมเปิดเวทีโชว์สกิลสตาร์ทอัพเกษตรไทยในโครงการ AGROWTH แง้ม 3 โอกาสทองนวัตกรรมเกษตรที่ภาคลงทุนสนใจสูงสุด

กรุงเทพฯ 19 ธันวาคม 2567 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดพื้นที่ให้ 10 สตาร์ทอัพ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ร่วมนำเสนอผลงานการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในรูปแบบที่หลากหลายและมีความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทย ในกิจกรรม AGROWTH Demo Day เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีเชิงลึก
เข้ามาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่พลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า
การทำเกษตรกรรมเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยและมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนไทยมายาวนาน ดังนั้น การเร่งสร้างสตาร์ทอัพที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกในภาคการเกษตร จึงเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ
การใช้ทรัพยากรสูงสุด โครงการ AGROWTH (แอค-โกรท) เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้สตาร์ทอัพไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ซับซ้อนของอุตสาหกรรมเกษตรได้อย่างเต็มที่ พร้อมสร้างระบบนิเวศ
ที่เชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพกับผู้ประกอบการ นักลงทุน และพันธมิตรต่าง ๆ ในการขยายตัวสู่ระดับสากล ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา NIA มุ่งเน้นพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตรที่มีความท้าทาย เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การขาดแคลนแรงงาน รายได้ของเกษตรกรอยู่ระดับต่ำ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรทั่วโลกที่มีอย่างต่อเนื่อง

“ข้อมูลจาก AgFunder พบว่า ในปี 2566 ภาพรวมการลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมีมูลค่า 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 172 พันล้านบาท โดยกลุ่มเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ได้รับการร่วมลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ
1. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร 2. แพลตฟอร์มด้านตลาดและการเงินทางการเกษตร และ 3. หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และระบบอัตโนมัติ โดยโครงการ AGROWTH นี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเป็นกลไกในการเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโต และต่อยอดการลงทุน รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้นซึ่งผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2020 – 2022 ได้สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก 17 บริษัท มีหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าสนับสนุนโครงการ ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยงาน และสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่ผ่านเข้าร่วมโครงการได้รับเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐ หรือเงินลงทุนจากภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่ารวม 139 ล้านบาท และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สตาร์ทอัพเกษตรทั้ง 10 รายในครั้งนี้ จะได้รับการลงทุนจากทั้ง VC และ CVC ด้วยเช่นกัน”

ด้านนายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวเสริมว่า สตาร์ทอัพมีการนำเสนอผลงานการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในรูปแบบที่หลากหลายและมีความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเกษตรไทย จำนวน 10 ทีม ได้แก่ 1. AI Auto Feed: ระบบให้อาหารปลาอัตโนมัติแบบแม่นยำโดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์เสียงการกินอาหารของปลา 2. AquaBall: สารเพิ่มประสิทธิภาพระดับนาโนเพื่อปรับปรุงดิน และเพิ่มธาตุอาหารสำคัญที่พืชต้องการ
3. Durian AI: เครื่องคัดเแยกเกรดคุณภาพทุเรียนแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยี AI และภาพถ่าย 3 มิติ 4. Ecoguard plus: สารอนุภาคนาโนย่อยสลายได้ ป้องกันการเกิดโรคเต้านมอักเสบสำหรับปศุสัตว์ 5. GATI: ระบบบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี IoT และ AI 6. Max Boost: สารเสริมอาหารกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียรเพื่อป้องกันการเกิดโรคกุ้ง (ขี้ขาว แดงดวงขาว และหัวเหลือง) 7. Pre-Ionic: สารเสริมประสิทธิภาพไอออนนาโนสำหรับการปลูกพืชอินทรีย์ 8. Q-Chick: หุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับดูแลสุขภาพไก่เนื้อในโรงเรือนระบบปิด 9. Sentech Plus: สารชีวภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี Bacteriophages เพื่อป้องกันการเกิดโรคกุ้ง และทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ และ 10. สิบขา: ระบบตรวจจับการลอกคราบเพื่อผลิตปูม้านิ่มโดยใช้เทคโนโลยี AI และการประมวลภาพ

“จากการนำเสนอผลงานจะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทยมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับภาคการเกษตรไทยให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ต่อไป ทั้งนี้ สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้น ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ตลอดจนการให้คำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ การจับคู่และทดสอบการใช้งานจริงร่วมกับองค์กรธุรกิจเกษตรชั้นนำระดับประเทศ ตลอดจนมีโอกาสต่อยอดธุรกิจร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร และการเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนจากภาครัฐ และเงินลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการนำเสนอผลงานบนเวทีของสตาร์อัพทั้ง 10 ทีม ได้มีการรวบรวมคะแนนตลอดระยะเวลาโครงการและตัดสินจากคณะกรรมการ โดยสรุปผลรางวัลตัดสินมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ รางวัล Best Performance ได้แก่
ทีม Aqua Conquest บริษัท อะควา คองเควซต์ จำกัด ผู้พัฒนา“MaxBoost” สารเสริมอาหารกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียรเพื่อป้องกันการเกิดโรคกุ้ง (โรคแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง และโรคขี้ขาว) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดการเกิดโรคสำคัญในกุ้ง หยุดการใช้ยาปฏิชีวนะลดการใช้สารเคมีอันตรายปลอดภัยต่อตัวกุ้ง สิ่งแวดล้อม และผู้บริโภค รางวัล 1st Runner-Up และรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีม GATI บริษัท กรีน อะโกร เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้พัฒนานวัตกรรมร่วมแก้ปัญหาสำคัญในการเลี้ยงสุกรด้วยระบบตรวจจับโรคและบริหารจัดการฟาร์มสุกรแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยี loT และ AI ที่สามารถวิเคราะห์เสียงไอของสุกรทำให้รู้ได้ว่าสุกรเจ็บป่วยระดับใดและเกิดขึ้นในคอกใด แสดงผลและแจ้งเตือนแบบ Real Time ไปยังเกษตรกร พร้อมระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในฟาร์มอย่างอัตโนมัติ รางวัล 2nd Runner-Up ได้แก่ ทีม Durian AI บริษัท กัสโต้ เทคโนโลยี จำกัด ยกระดับควบคุมคุณภาพทุเรียนด้วยเครื่องคัดแยกเกรดทุเรียนแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยี AI และภาพถ่าย 3 มิติ ที่ช่วยคัดแยกทุเรียนแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทั้งขนาดและรูปทรง พร้อมมีระบบบันทึกข้อมูลเวลา วันที่ และข้อมูลสวนของทุเรียน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated