ARDA โชว์ 4 นวัตกรรมงานวิจัย “สมุทรสงคราม - เพชรบุรี” ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและภาคเกษตรไทยยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)สวก.หรือ ARDA จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมงานวิจัย ARDA สู่ความมั่นคงด้านอาหารและภาคการเกษตรไทยที่ยั่งยืน” โดย ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการ ARDA และ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมนวัตกรรมงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและสร้างการยอมรับ อุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตรของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 20 -21 มกราคม 2568 ณ จังหวัดสมุทรสงครามและเพชรบุรี

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ในขณะเดียวกันความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยของประชาชนกำลังเป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามองเช่นเดียวกัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นแต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรฐานราก ซึ่งจะเป็นการสร้างและกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้ ทาง ARDA ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมงานวิจัยที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในการยกระดับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มาจากภาคเกษตรกร รวมถึงการแปรรูปเป็นอาหารที่สร้างมูลค่า ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีการลงพื้นที่ติดตามใน 4 โครงการวิจัย โดยเริ่มต้นจุดแรกได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการ “การพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลหอยแครง Tegillorca granosa (Linnoeus, 1758) โดยร่วมกับฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกร” ณ วรเดชฟาร์ม ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โครงการวิจัยที่มุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระดับสูงมาสร้างความยั่งยืนให้ทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากหอยแครงมีผลผลิตในธรรมชาติลดลงส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนเกิดปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงและความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทยย้อนกลับไป 20 ปี พบว่าประเทศไทยเคยมีผลผลิตหอยแครงสูงสุดถึง 82,000 ตัน/ปี และมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2565 จากสถิติของกรมประมงพบว่า ผลผลิตหอยแครงทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 32,600 ตัน/ปี จังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาดังกล่าว

ดังนั้นสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามได้แจ้งปัญหาไปยัง ARDA  เพื่อหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ARDA ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนจึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมประมง เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกหอยโดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่ตำบลคลองโคน ตั้งแต่การรวบรวมพันธุ์หอยแครงมากระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ด้วยวิธีการผสมเทียม (Artificial Breeding) การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชเพื่อใช้เป็นอาหารลูกหอยระยะว่ายน้ำและระยะลงเกาะช่วงแรก เพื่อให้ได้ลูกหอยขนาด 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีอัตราการรอดสูงและเกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงต่อให้เป็นหอยแครงขนาดใหญ่

สำหรับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ทางคณะวิจัยสามารถเพาะอนุบาลลูกหอยแครงได้ขนาดมากกว่า 1 มิลลิเมตร รวมกว่า 1 แสนตัว และเตรียมนำไปอนุบาลต่อไป โครงการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการพึ่งพาการเก็บเกี่ยวหอยแครงจากธรรมชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกหอย ลดการใช้ลูกพันธุ์หอยหอยต่างถิ่น ลดความเสี่ยงจากโรค และช่วยฟื้นฟูประชากรหอยแครงในธรรมชาติ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงหอยแครง ให้พร้อมแข่งขันในตลาดอาหารทะเลในระดับโลกควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ตอบสนองต่อเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง

จากนั้น คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังจุดที่ 2 โรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จ.เพชรบุรี เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมภายใต้แผนงานวิจัย“เพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน” งานวิจัยที่จะเสริมจุดแข็งของจังหวัดเพชรบุรีด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการใช้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น เพื่อยกระดับการผลิตอาหารให้สมกับที่ UNESCO ได้ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของโลก

โดยแผนงานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 3 โครงการวิจัยย่อย ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อยที่ 1 การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและมีคุณภาพ และTraceability โครงการวิจัยย่อยที่ 2 การยกระดับอาหารท้องถิ่นเมืองเพชรสู่มาตรฐานสากล และโครงการวิจัยย่อยที่ 3 การประเมินและการวัดผลการดำเนินโครงการเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารสู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ ทางคณะสื่อมวลชนได้ชิมเมนูขนมหวานเมืองเพชรที่เป็นทั้งเมนูต้นตำรับ และฟิวชัน ประกอบด้วย จานที่ 1 กระทงทองเมี่ยงคำเครมบูเล่สังขยาลูกตาล ดาราทอง จานที่ 2 หม้อแกงคัสตาร์ดเผือก จานที่ 3 ลูกตาลหนึบ ทองม้วน เชอร์เบทมะนาว สำหรับโครงการฯ สามารถสร้างมูลค่าผลตอบแทนปัจจุบันสุทธิ จำนวน 3,455,460 บาท ถือว่าช่วยตอบโจทย์เรื่องการอนุรักษ์ต้นตำรับอาหารเมืองเพชรบุรีให้ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยวที่จะช่วยเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งถือเป็นการให้ผลตอบแทนทางสังคมที่เป็นประโยชน์คุ้มค่า

จากนั้น ในวันที่ 21 มกราคม ผู้อำนวยการ ARDA ได้นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมจุดที่ 3 โครงการ “การกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม พันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี กรมประมง ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงกุ้งขาวแวนนาไม จนเกิดกุ้งขาวสายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่”เพชรดา 1″ เจริญเติบโตดี และ “ศรีดา 1” ต้านทานโรค EMS-AHPND  พร้อมขยายผลความสำเร็จโดยต่อยอดโครงการ “การกระจายพันธุ์กุ้งขาวแวนาไมพันธุ์ปรับปรุงสู่ภาคการผลิตเชิงพาณิชย์”

ทั้งนี้เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตกุ้งทะเลคุณภาพดี มีความต้านทานโรค สร้างเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตถึง 10 ล้านตัว/ปี  ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากต่างประเทศ ลดการใช้พ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวจากบ่อดินซึ่งมีความเสี่ยงกับเชื้อก่อโรค ที่อาจสร้างความสูญเสียผลผลิตของเกษตรกรจากโรคระบาด

โครงการวิจัยนี้ได้กระจายพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมทั้ง 2 สายพันธุ์จำนวน 5,150 คู่ สู่เกษตรกรโรงเพาะฟัก จำนวน 5 ราย เกษตรกรโรงอนุบาลจำนวน 15 ราย และเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวน 50 ราย

ผลผลิตจากงานวิจัยข้างต้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรโรงเพาะฟัก ทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งที่ตายโดยเชื้อก่อโรค คิดเป็นมูลค่า 8,640,000 บาท/ปี

ส่วนเกษตรกรโรงอนุบาล ให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นจากการลดจำนวนกุ้งทดแทนจากการนำเข้า คิดเป็นมูลค่า 20,736,000 บาท/ปี ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง มีกำไรเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายกุ้งที่เพิ่มขึ้นจากเดิม คิดเป็นมูลค่า 2,709,504 บาท/ปี คิดเป็นมูลค่า ผลประโยชน์รวม 32,085,504 บาท/ปี

จากนั้น ARDA ได้นำคณะสื่อมวลชน ไปยังโครงการฟาร์มทะเลตัวอย่างแบบผสมผสาน ตามพระราชดำริฯ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อเยี่ยมชมหนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการ “การขยายผลนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงและการแปรรูปสาหร่ายผักกาดทะเลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในชุมชนชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี ระยอง และจันทบุรี” ที่ ARDA ให้ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ ARDA ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่กรมประมง เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์น้อย

โครงนี้ตั้งเป้าหมายถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในการนำนวัตกรรมงานวิจัยมาเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงในถังพลาสติกไปจนถึงการแปรรูปสร้างมูลค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่เน้นบริโภคผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณค่าทางโภชนาการปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“สาหร่ายผักกาดทะเล” เป็นหนึ่งในสาหร่ายเศรษฐกิจที่มีความพร้อมในการผลักดันสู่อาหาร Future food เนื่องจากสามารถนำมาแปรรูปเป็นเมนูได้หลากหลายโดยจุดเด่นที่น่าสนใจของสาหร่ายชนิดนี้คือ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงสั้นเพียง 3-4 สัปดาห์ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายได้ ทำให้บริหารจัดการการเลี้ยงได้ง่าย อีกทั้งราคาผลผลิตสดสามารถจำหน่ายได้ราคา 300-500 บาท/กิโลกรัม และแบบแห้งราคาสูงถึง 5,000 บาท/กิโลกรัม

สำหรับโครงการนี้คาดว่าจะมีผลผลิตสาหร่ายผักกาดทะเลออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 3,500 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านบาท กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่น้อยกว่า เฉพาะการแปรรูปสาหร่ายผักกาดทะเลมีรายได้อย่างน้อย 13,000 บาท/ราย เป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดทะเลและเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นต่อไป

นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง Family Farm เพื่อเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยเป็นฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงจากกรมประมง สามารถสร้างรายได้จากการผลิตและจำหน่ายสาหร่ายและผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายต่าง ๆ เฉลี่ย 180,000 บาท/เดือน

ล่าสุดได้เข้ารับการอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผักกาดกับทางกรมประมง และนำมาต่อยอดทดลองเลี้ยงในฟาร์มในบ่อไฟเบอร์กลาสประมาณ 10 ถัง สามารถสร้างผลผลิตสาหร่ายผักกาดทะเลได้ 10 – 20 กก./เดือน สร้างรายได้ประมาณ 10,000 / เดือน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated