กปร.นำสื่อมวลชนสัญจร สืบสานพระราชดำริ เยี่ยมชมผลสำเร็จการขยายผลและยกระดับเกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ หมู่ 7 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ) นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. นำสื่อมวลชนในโครงการสื่อมวลชนสัญจร
สืบสานพระราชดำริ เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสานของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม
เขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของ นายสามารถ พูลเกษม
(สวนเกษตรสามารถ) และนายสุกิจ สุภาพงศ์
(สวนยายเหรียญ)
เกษตรกรต้นแบบหมู่ 7 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จ ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อการศึกษาดูงานของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

เกษตรก้าวไกLIVE-เยี่ยมชมผลสำเร็จการขยายผลและยกระดับเกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริหมู่ 7 ต.เตาปูน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1148439080106962

นายสามารถ พูลเกษม (สวนเกษตรสามารถ) เกษตรกรเจ้าของแนวคิด “ไม่มีอะไรที่ทําไม่ได้ คิด ศึกษา แล้วทํา”
ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืน ทำให้พื้นที่จำนวน 4 ไร่ เกิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อปี 76,000 บาท โดยในพื้นที่มีกิจกรรมเพื่อการศึกษาดูงานที่หลากหลาย อาทิ กิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ระบบน้ำอัจฉริยะ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการทําเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มาประยุกต์กับเทคโนโลยีระบบน้ำอัจฉริยะ สำหรับใช้ในแปลงปลูกไม้ผล พืชผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา โดยผลผลิตในแปลงมีหลากหลาย อาทิ ดอกแค สะเดา กล้วยน้ำว้า มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง ละมุด ข้าว และเลี้ยงไก่พื้นเมือง ผลผลิตที่ได้เพื่อการบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือแบ่งปันและขาย ดํารงตนตามวิถีพอเพียง
ทำให้มีรายได้มั่นคงและต่อเนื่อง

โอกาสนี้ คณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมการจัดสรรที่ดินในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และกิจกรรมต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูก อาทิ การให้น้ำพืชด้วยระบบอัจฉริยะ การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา การปลูกพืชผัก และไม้ผลแบบผสมผสาน

จากนั้น คณะได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน ของ นายสุกิจ สุภาพงศ์(สวนยายเหรียญ) ซึ่งมีคติประจำใจในการประกอบอาชีพ คือ “ตามรอยเท้าพ่อ สานต่องานอาชีพ เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม” ไม่หวงความรู้และประสบการณ์ ถ่ายทอดสู่ชุมชนและผู้สนใจ เป็นแบบอย่างสังคมแบ่งปัน สร้างรายได้ทั้งตนเองและชุมชน
เป็นเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรง และการแปรรูปสมุนไพรเพื่อสุขภาพ มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 300,000 บาท โดยในแปลงเกษตรของนายสุกิจมีพื้นที่ จำนวน 3 ไร่ มีกิจกรรมเรียนรู้ด้านเกษตรแบบผสมผสานวิถีพอเพียง
การเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรพืช และการแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งพืชให้ผล เช่น มะนาว มะพร้าว มะม่วง และพืชสมุนไพร อาทิ ไพล ย่านางแดง ขมิ้น อ้อย ว่านเอ็นเหลือง โดยนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำมันไพล โลชั่นถนอมผิว สบู่ก้อนสมุนไพร สบู่เหลวสมุนไพร แชมพูสระผมสมุนไพร ยาหม่องสมุนไพร สบู่สับปะรด

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในพื้นที่ให้เยี่ยมชม อาทิ แปลงผักและไม้ผลแบบผสมผสาน พืชสมุนไพร การเลี้ยงผึ้งโพรง การเลี้ยงชันโรง การแปรรูปสมุนไพร และการบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การสาธิตการแยกรังชันโรง และวิธีการเก็บน้ำหวานชันโรง

สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ เป็นการส่งเสริมการดำเนินงานของเกษตรกรเครือข่ายที่มีศักยภาพสามารถจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเป็นตัวอย่างความสำเร็จ
ในการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ มาพัฒนารูปแบบการประกอบอาชีพ
และเป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรรวมถึงผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ โดยปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ขยายผลของโครงการจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย ด้านเกษตรอินทรีย์ 7 แห่ง และด้านเกษตรผสมผสาน 3 แห่ง

โครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กระจายครอบคลุมทุกพื้นที่และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความยั่งยืนให้แก่เกษตรกร โดยสำนักงาน กปร. ได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขา กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและจัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ตามกระบวนการ Plan Do Check Act : PDCA ทั้งนี้ มีศูนย์เรียนรู้ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินแล้วทั่วประเทศ จำนวน 221 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ หลากหลายสาขา เช่น ด้านเกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้สนใจได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated