ธ.ก.ส.หนุนชาวหนองบัวแดง ปลูกกล้วยหอมทอง ส่งขายญี่ปุ่น มีเท่าไรก็ไม่พอขาย

เรื่อง : จตุพล ยอดวงศ์พะเนา

ทีมงานเกษตรก้าวไกล มีโอกาสเดินทางไปเยือน อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เพื่อไปพบกับเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทอง ส่งขายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการกล้วยหอมทองปีละ 1 ล้านตัน ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งกล้วยหอมทองเข้าประเทศญี่ปุ่น เพราะรสชาติกล้วยหอมทองประเทศไทย เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น 

ลุงพรได้พบกับ คุณวิไลวรรณ ผลวิลัย รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออกหนองบัวแดง ได้เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการปลูกกล้วยหอมทอง เนื่องจากเมื่อก่อนในพื้นที่อำเภอหนองบัวแดงมักจะปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกพริก ชีวิตจะอยู่กับสารเคมี กลุ่มของตนมีจุดประสงค์ต้องการที่จะเอาตัวเองออกจากสารเคมี จึงหันมาปลูกกล้วยหอมทองส่งประเทศญี่ปุ่น 

คุณวิไลวรรณ กล่าวว่า มีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเพื่อชีวิต ได้มาให้ความรู้กับเรา และอาจารย์ท่านรู้จักกับบริษัทส่งกล้วยหอมทองขายประเทศญี่ปุ่นเราจึงทดลองปลูกขาย เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรมักโดนหลอกตลอด หลอกให้ซื้อพันธุ์พืชต่างๆ แต่ก็ไม่มารับซื้อผลผลิต 

“เมื่อมีคนมาชวนปลูกกล้วยหอมทอง เราจึงรวมตัวกันขึ้นใหม่ โดยประธานเป็นครู (นายอุดมศักดิ์ เพิ่งจันดา) ท่านยังรับราชการอยู่ ใช้พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ เริ่มปลูกกล้วยหอมทอง (พันธุ์กาบดำ) ก็มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ส่งประเทศญี่ปุ่นจริง เราจึงเริ่มขยายพื้นที่ปลูก เพราะแน่ใจแล้วว่าไม่ถูกหลอก เราได้ขยายหน่อกล้วยจากแปลง 30 ไร่ ไปยังพื้นที่ต่างๆ จนเป็น 190 กว่าไร่ เมื่อตำบลอื่นๆ รู้ข่าว ก็มาร่วมปลูกกล้วยหอมทองกันมากขึ้น ตอนนี้มีสมาชิกทั่วจังหวัดชัยภูมิ อำเภอละ 3-4 จุด”คุณวิไลวรรณ กล่าว

ต่อมาเราได้ขยายพื้นที่ปลูกอีก ลงทุนซื้อกล้วยหน่อละ 13 บาท ค่าไถค่าจัดการแปลง ตกไร่ละประมาณ 12,000 บาท เริ่มต้นจากการไถดะไถแปร แล้วมายกร่องทำระบบน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก อาจจะเป็นขี้วัวขี้ไก่ ใครมีอะไรก็เอามาใส่เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งปุ๋ยมูลสัตว์เหล่านั้นต้องผ่านการหมักเสียก่อน ส่วนระยะการปลูกเริ่มแรกจะเป็น 2 คูณ 2 เมตร ปัจจุบันเราจะปรับเปลี่ยนเป็นระยะแถว 2 เมตรครึ่ง ระยะห่าง 2 เมตรครึ่ง เพื่อต้องการนำเครื่องจักรเข้ามาจัดการในแปลง ซึ่งถ้าปลูกไม่เกิน 1 หรือ 2 ไร่ ใช้แรงงานคนได้ แต่ถ้าปลูกระดับ 10 ถึง 20 ไร่ขึ้นไปก็ต้องใช้เครื่องจักร มันง่ายต่อการจัดการแปลง 

คุณวิไลวรรณ พาลุงพรเข้าไปชมโรงตัดแต่งและคัดกล้วยส่งออก ความแก่ความอ่อนและขนาดต้องได้มาตรฐานส่งออกญี่ปุ่น ช่วงฤดูแล้งหรือฤดูหนาวกล้วยจะแก่เร็ว เราต้องใช้การตรวจเนื้อกล้วยด้วย ถ้าหากแก่เกิน 80% ขึ้นไป เราก็ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะกล้วยจะสุกก่อนเดินทางไปถึงญี่ปุ่น เพราะเราใช้เวลาขนส่งทางเรือถึง 14 วัน ถ้ากล้วยไม่ได้มาตรฐานหรือสุกก่อน กลุ่มเราจะโดนปรับ 

ทีมงานเกษตรก้าวไกลได้พบกับคุณสุภาภร ขันชาลี หรือ คุณหลัน เกษตรกรที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ20ปี เดินทางกลับบ้านมาปลูกกล้วยหอมทองที่บ้านเกิด และนำมาส่งที่กลุ่มเป็นครั้งแรก 

คุณหลัน กล่าวว่า เคล็ดลับเบื้องต้นของการปลูกกล้วยคือต้องมีน้ำอย่างเพียงพอ ที่บ้านมีทั้งบ่อน้ำและขุดเจาะบ่อบาดาล เมื่อเราสมัครเป็นสมาชิกแล้ว ทางกลุ่มก็จะให้หน่อกล้วยเรามาก่อน เมื่อผู้ปลูกรายใหม่สมัครมาเป็นสมาชิกกลุ่มก็จะใช้หน่อจากของเรา หมุนเวียนกันแบบนี้ต่อไป ที่สวนของเราไม่ใช้สารเคมีเราใช้แค่ปุ๋ยคอก เช่นขี้ไก่ที่หมักแล้ว เราได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด เขาจะมีกากน้ำตาลหรือมีวัตถุดิบมาให้เรานำมาหมักทำเป็นปุ๋ยคอก ส่วนปุ๋ยเคมีเราจะใช้สูตรเสมอบ้างเป็นบางช่วง แต่ในช่วงที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจะไม่ใส่เลย ส่วนด้านโรคแมลงเราเป็นสวนใหม่ยังไม่พบปัญหา เพราะเราได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และรองประธานกลุ่มตลอดเวลา จึงมีภูมิคุ้มกันที่ดี

“การทำสวนกล้วยไม่เหนื่อยและไม่ร้อน เมื่อต้นกล้วยสูงแล้วจะเป็นร่มให้เราอย่างดี ขอเชิญชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯกลับบ้านมาปลูกกล้วยส่งออก ครั้งแรกๆ อาจจะใช้เงินทุนเล็กน้อย แต่เมื่อกล้วยอายุ 9 เดือนแล้ว เราก็ทยอยตัดขายมีเงินมาหมุนเวียนได้ตลอดเวลา” คุณหลัน กล่าว

สำหรับขั้นตอนการรับกล้วยส่งไปญี่ปุ่นนั้น คุณวิไลวรรณ กล่าวว่า เกษตรกรต้องมาลงทะเบียนกับเราว่าปลูกกล้วยไว้กี่เครือ จากนั้นก็ตัดมาส่งเราโดยจะนำมาลงแช่ในอ่างน้ำเพื่อไม่ให้กล้วยช้ำ แล้วก็ล้างกล้วยให้สะอาด แล้วก็นำมาที่อ่างที่ 3 เพื่อการคัดกล้วย ที่ได้มาตรฐานส่งออก หวีไหนตกเกรดเราก็นำมาแปรรูปหรือส่งขายภายในประเทศ เราคัดตัดเป็นช่อไม่เกิน 600 กรัม ก่อนที่จะนำไปเช็ดและเป่าลมเช็ดทำความสะอาด นำไปชั่งน้ำหนัก และแพ็คใส่กล่องส่งออก เรามีตัวเลขนับเบอร์ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 

เมื่อแพ็คแล้วเราก็นำไปเข้าห้องเย็นไว้ 1 ชั่วโมง ความแก่ของกล้วยที่จะส่งไปขายญี่ปุ่น ต้องประมาณประมาณ70-80% เพราะต้องเผื่อเวลาการเดินทาง

คุณวิไลวรรณ กล่าวว่า มาถึงจุดนี้ได้ ถือว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว เรามีความภูมิใจที่สามารถสร้างงานสร้างเงินให้กับชุมชนเราได้ เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ที่มั่นคง

“งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดเราได้รับจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กู้มาโครงการล้านละร้อย  นำมาหมุนเวียนในชุมชน ต้องขอขอบคุณธ.ก.ส.ที่ให้สินเชื่อเรามาต่อยอด ขอเชิญชวนเกษตรกรให้มารวมกลุ่มกันปลูกกล้วยเยอะๆ เพราะเรามีที่ขายและรู้ราคาก่อนแน่นอน ไม่ต้องโดนเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง” รองวิไลวรรณ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated