29 มกราคม พ.ศ. 2568, ขอนแก่น – โครงการความร่วมมือระหว่างภูมิภาคด้านนวัตกรรมการเกษตร (โครงการเรน) ขับเคลื่อน “โครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี” ให้ชาวนาใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคามใช้จุลินทรีย์สำหรับย่อยสลายตอซังข้าวเป็นทางเลือกแทนการเผา เพื่อลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ฟื้นฟูดิน ลดต้นทุนจากการพึ่งพาปุ๋ยเคมี มุ่งสร้างรายได้ของชาวนาให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้มีมีการเปิดแถลงข่าวและจัดเสวนาขึ้นที่ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ภายในมหาวิยาลัยขอนแก่น โดยมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมจำนวนมาก
เกษตรก้าวไกลLIVE- แถลงข่าวโครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/639111692123984
เกษตรก้าวไกลLIVE- โครการเรนพาลงพื้นที่ไปพบกับชาวนาที่ใช้จุลินทรีย์สลายตอซัง โดยไม่คิดเผาอีกต่อไป https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1682805615680703
โครงการเรนซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและดำเนินการโดยองค์การวินร็อค ส่งเสริมให้ชาวนาย่อยสลายตอซังข้าวด้วยจุลินทรีย์หลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมแปลงให้ทันสำหรับการปลูกข้าวในฤดูถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาในพื้นที่ชลประทานที่ปลูกข้าวนอกฤดูกาล จำนวนมากยังเผาตอซังข้าวเพราะไม่สามารถใช้บริการรถไถกลบได้ทั่วถึง และขาดความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีจุลินทรีย์เพื่อย่อยสลายตอซัง
ผลการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์สามารถผลิตเอนไซม์เพื่อย่อยสลายฟางและตอซังข้าวได้ภายใน 10-14 วัน เร็วพอสำหรับชาวนาที่จะเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในครั้งต่อไป มีวิธีเตรียมสารละลายและการใช้งานที่ง่าย และต้นทุนคุ้มค่ากว่าวิธีการอื่นเมื่อคำนวณอย่างรอบด้าน เพราะจุลินทรีย์จะเปลี่ยนตอซังซึ่งมีธาตุอาหารอยู่ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และช่วยย่อยสลายมวลชีวภาพทางการเกษตรอื่นๆ จึงช่วยให้ต้นข้าวสามารถดูดซึมสารอาหารในดินได้ดีขึ้น และช่วยชาวนาลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี
ชาวนาอนแก่นรวมพลังหยุดเผา
นอกจากนี้ยังสร้างแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตในดิน เช่น จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แมลง ไส้เดือน กบ เขียด ซึ่งช่วยทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย เพิ่มออกซิเจนในดิน และฟื้นฟูระบบนิเวศในที่นา ส่งผลให้ต้นข้าวแข็งแรง มีภูมิต้านทานต่อโรคและแมลง อีกทั้งช่วยย่อยเมล็ดวัชพืชและเมล็ดข้าวที่ปนติดมากับรถไถหรือรถเกี่ยวข้าว ลดปัญหาข้าวดีด ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเพาะปลูก
ในด้านของสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้จุลินทรีย์เป็นทางเลือกแทนการเผาจะช่วยผลักดันนโยบายของรัฐบาลไทยในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งกำลังสร้างผลกระทบด้านสาธารณสุขที่สำคัญในระดับภูมิภาค อีกทั้งลดก๊าซเรือนกระจกได้แก่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา และก๊าซมีเธนที่เกิดจากการย่อยสลายของตอซังข้าว ยกระดับมาตรฐานความยั่งยืนให้ชาวนาไทย
ผู้อำนวยการโครงการเรนมอบของที่ระลึกแก่ประธานในพิธี
“โครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี” ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 เน้นการขับเคลื่อนทางสังคมและการสนับสนุนตลาดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวนาใช้จุลินทรีย์แทนการเผาตอซัง กิจกรรมหลักของโครงการได้แก่การอบรมเชิงปฏิบัติการให้ชาวนาและตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าใจประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จุลินทรีย์ การสร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบและการสนับสนุนแปลงสาธิตเพื่อขยายวงการใช้จุลินทรีย์ การสร้างจุดจำหน่ายจุลินทรีย์ในชุมชน การสร้างแรงจูงใจสำหรับชาวนาให้ทดลองใช้จุลินทรีย์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ที่ปรึกษา “โครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี”
รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล ที่ปรึกษา “โครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี” เปิดเผยว่าโครงการได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งในระดับจังหวัดและระดับชุมชนเสร็จสิ้นแล้ว ในขณะนี้โครงการเริ่มสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ชาวนาจัดแปลงสาธิตการใช้จุลินทรีย์แทนการเผา และคัดเลือกเกษตรกรต้นแบบ 30 คนแรกในแต่ละจังหวัด เพื่อเผยแพร่การทดลองใช้งานจุลินทรีย์สู่เกษตรกร 6,000 คนภายในเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มเป็น 20,000 คนเมื่อสิ้นสุดโครงการในเดือนพฤษภาคม 2568
นอกจากนี้โครงการร่วมกับร้านค้าในชุมชนเพิ่มจุดกระจายจุลินทรีย์ เพื่อเอื้ออำนวยให้เกษตรกรหาซื้อจุลินทรีย์ได้สะดวก นอกจากนี้ยังจัดการประกวดการทำนาไม่เผาระหว่าง 3 ชุมชนในแต่ละจังหวัด
รศ. ดร. ไกรเลิศกล่าวว่า “การให้ข้อมูล การสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร และการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐและภาคเอกชนสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้เกษตรกรเป็นหัวใจของโครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชีที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรกรรมยั่งยืน การให้การสนับสนุนที่จับต้องได้ช่วยให้เกษตรกรมองเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม”
ดร. ชนากานต์ พุทโธ กุพชกะ ผู้อำนวยการด้านวิชาการโครงการเรน
ดร. ชนากานต์ พุทโธ กุพชกะ ผู้อำนวยการด้านวิชาการโครงการเรน กล่าวว่าโครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชีเป็นการบูรณาการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ เข้ากับกระบวนการทางสังคม เพื่อส่งเสริมการจัดการตอซังข้าวอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกษตรกรใช้แนวทางของความยั่งยืน
“โครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชีเน้นการสร้างความรู้และแรงจูงใจให้เกษตรกรเลือกใช้วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดการตอซังข้าว เรากำลังขยายผลให้เกษตรกรในวงกว้างใช้จุลินทรีย์เป็นทางเลือกในการย่อยสลายตอซังแทนการเผาผ่านการทำงานของภาครัฐและเอกชน
“จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าวได้อย่างรวดเร็ว เป็นการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เราเรียกร้องให้ภาคเอกชนมีบทบาทเช่นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของชาวนาที่ไม่เผาตอซังเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรใช้แนวทางนี้ต่อเนื่องในระยะยาว”
ดร. ชนากานต์ กล่าวเสริมว่า โครงการเรนกำลังทำงานร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาระบบ Hotspot Monitoring Platform ที่ติดตามการเผาในพื้นที่ผ่านข้อมูลดาวเทียมแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ภาครัฐและทุกฝ่ายประเมินผลการลดการเผาจากภาคเกษตรกรรมได้อย่างแม่นยำและเป็นรูปธรรม ความสำเร็จในพื้นที่ลุ่มน้ำชีสามารถเป็นต้นแบบการเกษตรยั่งยืนที่ขยายไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง
วิลเลี่ยม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา
วิลเลี่ยม สปาร์กส์ ผู้อำนวยการโครงการเรน กล่าวว่าจุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเท่าทันภูมิอากาศที่โครงการกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ ด้วยเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ขยายตลาด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่นกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน
ตัวแทนเกษตรกรชาวนาร้อยเอ็ดยืนยันหยุดเผาตอซังข้าว
“โครงการเรนยินดีอย่างยิ่งที่ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในวงกว้างใช้ผงจุลินทรีย์ในโครงการหยุดเผาลุ่มน้ำชี จุลินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับนานาชาติ ที่สำคัญการรณรงค์ให้ชาวนาหยุดเผาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างผลดีต่อประชากรไทยและประเทศใกล้เคียงในระยะยาว”
คุณวิลเลี่ยมกล่าวว่า โครงการเรนตั้งเป้าส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศใกล้เคียงเช่น ลาว ใช้จุลินทรีย์แทนการเผาเร็วๆนี้ และได้จัดทำ www.saynoburn.org เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลและกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์