7 สมาคมเคมีเกษตรยกเครื่องปี 68 เข้าสู่ “เคมีกรีน” จัดประชุมอารักขาพืชยุคโลกเดือด

7 สมาคมเคมีเกษตร ยกเครื่องธุรกิจ ปี 2568 เข้าสู่ “เคมีกรีน” เส้นทางธุรกิจเกษตรรักษ์โลก ชิงตลาด 3 หมื่นล้าน ครองใจเกษตรกร ผู้บริโภค รุกสังคมคาร์บอนต่ำ กุญแจสำคัญลดโลกร้อน พร้อมจัดประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติ

ทศวรรษที่ผ่านมาโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วและชัดเจน ในปี พ.ศ. 2566 องค์การสหประชาชาติ ได้เตือนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบนโลก ผลกระทบต่างๆ เป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า โลกเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด – Global Boiling” ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะโลกรวน ซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทำให้เกินขีดความสามารถของโลกที่จะรองรับได้ ผลกระทบต่างๆ ลดความสามารถของระบบธรรมชาติของโลกในการตอบสนองต่อความร้อน นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ ได้ประเมินไว้ว่าอุณหภูมิจะมีแนวโน้มสูงขึ้น และจะทำลายสถิติในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะประสบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีผลต่อการระบาดของโรคพืช วิวัฒนาการของเชื้อโรคพืช หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างพืชอาศัยและเชื้อโรคพืช อาจส่งเสริมให้เกิดโรคพืชชนิดใหม่ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต การระบาด และความสามารถในแข่งขันของวัชพืช ส่งผลให้ผลผลิตของพืชปลูกลดลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการปลูกพืช และการอารักขาพืชไทย การจัดการศัตรูพืชแบบเดิมอาจไม่สามารถป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีระบบการจัดการพืชที่ดี มีการติดตามสภาพภูมิอากาศและศัตรูพืชอย่างต่อเนื่อง ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตามความต้องการด้านบริโภคและอุปโภคยังคงเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การเพิ่มปริมาณการผลิต และการปกป้องผลผลิต จำเป็นต้องใช้ความรู้หลายด้าน ทั้งวิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยนำไปดำเนินการป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือบริหารจัดการศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตร เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ ในการเพิ่มความสามารถของวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อปกป้องผลผลิตและช่วยลดความเสียหาย ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

นอกจากวิธีการควบคุมศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพแล้ว การอารักขาพืชที่ถูกวิธีสามารถผลิตอาหารปลอดภัย ตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดโลก และตามมาตรฐานสากล เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ซึ่งในตลาดโลก ประเทศผู้ซื้อได้นำมาตรฐานของระบบการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดเส้นทางการผลิตในห่วงโซ่การผลิตอาหารมาใช้ควบคุมคุณภาพประกอบการสั่งซื้อสินค้า เช่น มาตรการสุขอนามัยพืช การกักกันศัตรูพืช มาตรการเรื่องปริมาณสารเคมีตกค้างในอาหาร ตลอดจนมาตรฐานของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น นำมาควบคุมอย่างเข้มงวดกับประเทศผู้ส่งออก

ประเทศไทยได้พัฒนาวิชาการด้านอารักขาพืชมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดในไทยมีมูลค่าประมาณ  2.5 หมื่นล้าน ถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี  ช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตตามระบบมาตรฐาน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลก และสินค้าเกษตรบางชนิด ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกในลำดับต้นๆ

แต่ในปัจจุบันสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือการอารักขาพืชใน “ยุคโลกเดือด” ดังนั้นภาระหน้าที่ของนักวิชาการด้านอารักขาพืช จะต้องช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้วิธีการอารักขาพืชที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น นำไปสู่การผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปราศจากสารพิษตกค้าง มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อม และหลีกเลี่ยงกิจกรรมการอารักขาพืชที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยกันลดอุณหภูมิของโลกที่เราอาศัยอยู่ให้มีความเหมาะสม และปลอดภัย

ทั้งนี้การประชุมวิชาการอารักขาพืชแห่งชาติ เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยสมาคมกีฏและสัตววิทยาแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ส่วน สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ครั้งที่ 15 การจัดประชุมวิชาการฯ มีขึ้นทุก 2 ปี โดยแต่ละสมาคมหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ และได้รับความร่วมมือจากสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทยด้วย โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นวันที่ วันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2568 โรงแรมดิเอมเพรส จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการอารักขาพืช ระดับพื้นฐาน ประยุกต์ และพัฒนา ประกอบด้วยด้านกีฎและสัตววิทยา โรคพืชและจุลชีววิทยา วิทยาการวัชพืช วิศวกรรมเกษตร และวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงการนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนางานวิจัยต่อไป ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของการทำงานวิจัย เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อพัฒนาบุคลากร และงานวิจัยด้านการอารักขาพืชให้มีคุณภาพ  ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการเคมีเกษตรจะต้องปรับตัวใหม่เพื่อเข้าสู่เกษตรรักษ์โลก

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated