นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิต จึงได้จัด “งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day)” เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตร และภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปใช้ในกระบวนการผลิต ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจแก่เกษตรกรในพื้นที่ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรใหม่ ๆ ให้เกษตรกรมีความพร้อมต่อการเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ เชื่อมโยงองค์ความรู้กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนสีเขียว (BCG Model) ให้เกิดเป็นต้นแบบและเกิดผลสำเร็จในระดับชุมชน

เกษตรก้าวไกลLIVE- สัมภาษณ์ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในงาน FIELD DAY 2025 https://www.facebook.com/kasetkaoklai/videos/1606525520007770

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นงานนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องมีการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ ศพก. เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดแก่เกษตรกร รวมทั้งให้บริการทางการเกษตร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับเกษตรกร และที่สำคัญคือเป็นกลไกการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ เน้นการเรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ดังเช่น งาน Field Day ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านไม้ผล (มะม่วง และทุเรียน) ได้จัดสถานีเรียนรู้ จำนวน 2 สถานี ได้แก่

1) สถานีเรียนรู้มะม่วง “พลิกโฉมการผลิตมะม่วง เพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน” ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะในการให้น้ำมะม่วง ช่วยให้มะม่วงมีการติดดอกและผลมากกว่าการให้น้ำแบบเดิม มีผลขนาดใหญ่สมบูรณ์ ได้ผลเกรดส่งออกเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 500 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดและแบบปิด ช่วยเติมน้ำในดิน รักษาความชื้นของดินและเก็บกักน้ำบ่อผิวดินได้ดีขึ้น ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วงนานในช่วงฤดูแล้ง การใช้ Solar Heater หม้อต้มสมุนไพรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แทนการใช้แก๊สและเตาฟืน ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 วัน จะได้สมุนไพรพร้อมใช้งาน การเลี้ยงชันโรงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะม่วง ช่วยให้มะม่วงติดผลเพิ่มขึ้น 25.77 เปอร์เซ็นต์ การคัดแยกขนาดมะม่วงอัตโนมัติ ช่วยลดค่าแรงงานและเวลาในการคัดแยกมะม่วงได้เกือบครึ่ง และการใช้เตาเผาถ่านไร้ควัน สร้างรายได้เพิ่ม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่ง มาเผาเป็นถ่านสร้างมูลค่าเพิ่มโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมตามหลักการขับเคลื่อนการเกษตร BCG Model และ Zero Waste รวมทั้งการนำเศษถ่านที่เหลือหรือได้จากการเผาไร้ควัน นำมาบดละเอียดผสมกับแป้งมันขึ้นรูปและอัดแท่ง สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายถ่านก้อนแบบปกติ จากถ่านป่นจำหน่ายได้ราคา 5 บาท/กิโลกรัม นำมาอัดแท่ง ราคา 25 บาท/กิโลกรัม และนำมาเข้าเครื่องบดทำเป็นถ่านดูดกลิ่น ราคา 800 บาท/กิโลกรัม

2) สถานีเรียนรู้ทุเรียน “บริหารจัดการสวนทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่” ถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการสวนทุเรียนโดยการจัดการสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม เช่นการใช้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ การปรับสมดุลความชื้นแบบ Micro Climate ช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ 112 บาท/ต้น/ปี การใช้โดรนเพื่อการเกษตรฉีดพ่นสารเคมีในสวนทุเรียน ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมี 40-47 เปอร์เซ็นต์ ลดค่าแรงงาน 10 เปอร์เซ็นต์ การบริหารจัดการน้ำในสวนทุเรียนด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) การใช้วิธีผสมผสานในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี สูตรเหลว ปราบโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน ช่วยลดต้นทุน 2,455 บาท/ไร่

ทั้งนี้ เกษตรกรที่มาร่วมงาน Field Day เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม มีต้นทุนการผลิตลดลง รายได้เพิ่มขึ้น ทำการเกษตรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้ ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
