ย่างเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีอากาศเย็น และมีน้ำค้างในตอนเช้า ส่วนช่วงกลางวัน แดดจัดและมีอากาศร้อน กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นให้เฝ้าสังเกตอาการระบาดของโรคราน้ำค้าง มักพบในระยะใบอ่อนเปลี่ยนเป็นใบแก่ อาการที่ใบ เนื้อเยื่อบนใบเกิดแผลสีเหลืองอ่อน หากสภาพอากาศในตอนเช้ามีความชื้นสูง ที่ใต้ใบด้านตรงข้ามแผลจะพบเชื้อราสาเหตุโรคสีขาวขึ้นฟู ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าโรคระบาดรุนแรง ก้านใบมีแผลช้ำ ใบจะเหลือง แห้ง และหลุดร่วง อาการที่ยอด เถาอ่อน และมือเกาะ มักพบเชื้อราสีขาวขึ้นฟูเป็นกลุ่มปกคลุม ยอดหดสั้น เถาและมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง อาการที่ช่อดอกและผลอ่อน จะพบเชื้อราสีขาวขึ้นฟูปกคลุม ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกเน่า และผลอ่อนร่วง
หากพบโรคเริ่มระบาดให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค หลีกเลี่ยงการตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง หรือช่วงที่ฝนตกชุก เพราะโรคจะระบาดรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนสูงเกินไป เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค กรณีพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล–เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรวาลิคาร์บ+โพรพิเนบ 5.5%+61.3% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5–7 วัน