กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคสัตว์ปีก แนะนำดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมืออากาศที่เปลี่ยนแปลง หนาวเย็น-สลับฝนตก-มีลมแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้สัตว์ปีกอ่อนแอและอาจเจ็บป่วยได้

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยว่า จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2561 โดยคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15-18 ม.ค. 61 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อากาศหนาวเย็นเฉียบพลัน แต่ยังคงมีอากาศหนาวเย็นและมีลมแรงในบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. 61 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์

สภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าว ส่งผลให้สัตว์ปีกมีความเครียดและอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ กอปรกับรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ในสัตว์ปีกเลี้ยงหลังบ้านที่ประเทศกัมพูชา กรมปศุสัตว์จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรเฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกในระยะนี้อย่างใกล้ชิด

“เกษตรกรต้องจัดเตรียมโรงเรือนให้สัตว์ปีกอยู่อาศัย ที่สามารถป้องกัน ลม ฝนได้ อาจเพิ่มอุปกรณ์สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายสัตว์ เช่น หลอดไฟกก หรือผ้าม่านกันลม เสริมวัสดุปูรอง ตลอดจนจัดเตรียมอาหารและน้ำสะอาดให้เพียงพอ และทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เสริมวิตามินและแร่ธาตุตามที่สัตวแพทย์แนะนำ เพื่อให้สัตว์มีร่างกายแข็งแรง” อธิบดีกรมปศุสัตว์ แนะนำ

รถที่ขนส่งสัตวืปีกต้องผ่านด่านกักกันโรคก่อนเดินทาง
รถที่ขนส่งสัตวืปีกต้องผ่านด่านกักกันโรคก่อนเดินทาง

ด้าน นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกพื้นที่เร่งค้นหาโรคระบาดในสัตว์ปีก โดยการเคาะประตูบ้านเข้าตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อตามพื้นที่เสี่ยง เช่น ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกรายย่อย พื้นที่ตามแนวชายแดน และพื้นที่นกอพยพ เป็นต้น อีกทั้งกำชับให้ตรวจสอบการลักลอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออก ตามแนวชายแดน ตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณด่านกักสัตว์ที่จุดผ่านแดน และเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกที่ต้องมีใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายทุกครั้ง

รถบรรทุกสัตว์เข้าด่านกักกันโรค
รถบรรทุกสัตว์เข้าด่านกักกันโรค

ทั้งนี้ กรมปศุสตว์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบ หรือพบสัตว์ปีกป่วย-ตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด ได้ทันที หรือแจ้งผ่านสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร.096-301-1946 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าดำเนินการอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญห้ามนำสัตว์ปีกดังกล่าวไปประกอบอาหาร หรือทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด โดยต้องทำลายซากอย่างถูกต้องด้วยการฝังหรือเผา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเป็นการควบคุมป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที./

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated