สัมมนาวิชาการเรื่อง "ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลกได้อย่างไร"

หมายเหตุ-เกษตรก้าวไกลดอทคอม : เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลกได้อย่างไร” เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม 2561 ณ อาคารศูนย์เรียนรวม 3 (ศร.3) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

รายละเอียดในการสัมมนาครั้งนี้ มีความน่าสนใจและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก จึงขอนำมาเสนอ ขอย้ำว่าสาระที่สรุปมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ท่านผู้อ่านที่ต้องการฉบับเต็ม โปรดหาอ่านหรือรับชมได้ตามสื่อต่างๆอีกครั้ง

คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะมายับยั้งไม่ให้ไทยเป็นมหาอำนาจผลไม้เมืองร้อนโลก
คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะมายับยั้งไม่ให้ไทยเป็นมหาอำนาจผลไม้เมืองร้อนโลก

รมว.พาณิชย์บรรยายพิเศษ

ภาคเช้าหลังจากที่พิธีการเปิดจบแล้ว ได้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลก” โดย คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลกได้ ทั้งนี้เพราะไทยมีผลไม้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน มังคุด ฯลฯ ผลผลิตมีปริมาณเพียงพอ มีภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานานในหลายๆด้าน โดยมีแนวคิด 4 ด้านที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลกหรือเป็น “มหาอำนาจผลไม้เขตร้อนของโลก” คือ

  1. ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อนสดและแปรรูปให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ผ่านมาทุเรียนของเราไม่มีแบรนด์ ต้องจัดทำ premium grade ทำให้มีราคาแพง และทำให้ต่างประเทศยอมรับ ดังเช่นทุเรียนของมาเลย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ส่วนทุเรียนที่ตกเกรด ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การทำทุเรียนแปรรูป เราต้องหานวัตกรรมที่เหมาะสม อย่างลำไยแทนที่จะขายผลสดราคาตกต่ำมาก แต่มีงานวิจัยของ มช. เข้ามารองรับ ปัจจุบันเขาแปรรูปเป็นน้ำเชื่อม หากตลาดไปได้ดี จะดูดวัตถุดิบได้มาก
  2. ต้องมีการสนับสนุนพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของผู้ประกอบการค้าผลไม้ไทยให้มีความเข้มแข็ง ทำนโยบายให้ไทยเป็น Trading nation และสามารถกำหนดกลไกราคาผลไม้ของโลก เช่น รับซื้อผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านและนำมาจำหน่ายผ่านช่องทางที่ไทย
  3. สร้างและพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและกระจายผลไม้ไทยให้มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ หาวิธีเก็บผลไม้สดให้ได้นาน ต้องมีห้องเย็นเก็บผลผลิตทางการเกษตร สิ่งสำคัญต้องจับคู่ค้าร่วมระหว่างไทย-จีน เป้าหมายเข้าหมิงเสียน 40% และหนานหนิง (เป็นเมืองจุดตัดรถไฟ ทางเรือและอากาศของจีน) ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องร่วมธุรกิจกัน (Business partner) หากส่งวัตถุดิบไปแปรรูปที่หนานหนิงได้ จะสามารถกระจายสินค้าขายในจีนได้ทั้งประเทศ
  4. ทำการประชาสัมพันธ์สินค้าผลไม้เมืองร้อนของไทยให้เป็นที่ต้องการของตลาด โดยการสร้าง Thailand Brand เช่น เมื่อ 30 ปีก่อน ไต้หวัน เป็นเจ้าพ่อการผลิตของโลก แต่ไม่สร้างแบรนด์ของตัวเอง ปัจจุบันแพ้ประเทศอื่นแล้ว

    วิทยากรในภาคเช้า
    วิทยากรในภาคเช้า

มุมมองจากภาคเอกชนไทย

จากนั้นต่อด้วยการสัมมนาหัวข้อ “ไทยจะเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนของโลกได้อย่างไร” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน โดยมีคุณเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ดังนี้

คุณโอฬาร พิทักษ์ อดีตอธิบดี กรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาตลาดไท กล่าวถึงการขับเคลื่อนการทำ Thai Gap เพื่อการส่งออก และได้พูดถึงโอกาสประเทศไทย ดังนี้

โอกาสของประเทศไทยอยู่ที่การมีภูมิประเทศที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของผลไม้หลากหลายชนิด คุณภาพและรสชาติดี ประสบการณ์ไทยมี ตลาดคนกินอยู่ฝั่งเอเชียเป็นส่วนใหญ่ ตลาดฝั่งยุโรปและอเมริกาพอมีโอกาส แต่ปัญหาคือพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่คุ้นและคุณภาพยังไม่แน่นอน อัตราการบริโภคและการพัฒนาการเก็บรักษาดีขึ้น ส่วนคู่แข่ง เราก็ได้เปรียบ เพราะบางประเทศมีภัยธรรมชาติ ไทยยังมีน้อย มองเรื่องตลาดอัตราเติบโตของตลาดสูง ทำให้มีโอกาสสูง

ปัญหาของเราอยู่ที่ต้องเปลี่ยนหลักการคิด เราไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เราต้องรู้เขารู้เราและรู้ให้จริง ตลาดมีการรับรู้และเปลี่ยนแปลงเร็ว อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่เราพยายามทำกันคือการรวมตัวของเกษตรกรและหน่วยงานของภาครัฐทำได้ยาก

คุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธาน หอการค้าไทย กล่าวว่าโอกาสความเป็นไปได้จะต้องทำ 4 เรื่อง คือ

  1. ผลผลิตต้องมีมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย
  2. Logistic (ระบบขนส่ง) บริหารตั้งแต่ต้นทาง คือ สวนและฟาร์มของเกษตรกร รวบรวมสินค้า ขนส่ง ไปสู่ปลายทาง ซึ่งศูนย์กลางตลาดกลางของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จ และผลไม้อายุสั้น ต้องหาวิธีการเก็บรักษาให้ได้นานและการย่นระยะเวลาการขนส่ง
  3. SPS (กฎระเบียบและสุขอนามัย) ทำอย่างไรให้สินค้าส่งผ่านได้สะดวกและถูกต้อง อะไรที่ติดขัดต้องแก้ไขให้รวดเร็ว
  4. บุคลากรภาคเกษตร ต้องส่งเสริมแนวคิดผลิตสินค้ามาตรฐาน ถ้าเกษตรกรไม่รวมตัว ศูนย์กลาง (Hub) ไม่เกิด ซึ่งระบบสหกรณ์อาจช่วยได้แต่ต้องพัฒนาระบบและองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรทั้งรุ่นเก่าและใหม่

ส่วนอุปสรรคคือ ประเทศไทยไม่เอาความจริงมาแก้ไขปัญหา คนไทยทุกคนควรร่วมกันแก้ไข ทุกคนเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ไม่ได้เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ทำไมเป็นศูนย์กลางทางเกษตรของยุโรปได้ ทั้งๆที่ผลไม้หลักๆ ไม้ดอกไม้ประดับ ไปปลูกที่ประเทศใกล้เคียงแต่เขาใช้ระบบและมาตรฐานเดียวกัน ไทยอาจใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา ที่ผ่านมาเราติดความสบายในชีวิตทำให้เราไม่กระตือรือร้นจนทำให้เราไม่พัฒนา

คุณปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย กล่าวโดยสรุป ดังนี้

อุปสรรคของเราเรื่องแรกอยู่ที่คน เราขาดแคลนแรงงาน ไทยควรสร้างคนรุ่นใหม่ เรื่องต่อมาคือกฎหมาย ต้องปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้สอดคล้องกัน เช่น มะม่วงส่งออก กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ตรวจ แต่มะม่วงนำเข้า กระทรวงสาธารณสุขตรวจซึ่งมันไม่สอดคล้องกัน อีกเรื่องที่สำคัญคือการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น รถพ่นสารในสวน มือ 1 แพงมาก และจะต้องเพิ่มมูลค่า ลดการสูญเสียให้เป็นศูนย์

นอกจากนี้ในตอนท้ายได้พูดถึงปัญหา Thai GAP ต้นทุนประมาณ 6 หมื่นบาทต่อแปลง แต่เกษตรกรบอกว่าถ้าทำแล้วขายได้ราคาเดิมทำไปทำไม แถมมี Thai GAP แล้วแต่ส่งออกไม่ได้ เพราะ ไม่มี DOA GAP อย่างนี้เกษตรกรก็เลยไม่ค่อยสนใจเท่าไร อีกปัญหาคือการหาเจ้าภาพในแต่ละชนิดผลไม้ ไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ดูทุเรียน มหาวิทยาลัยของแก่นดูมังคุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูเงาะ เป็นต้น

วิทยากรภาคบ่าย
วิทยากรภาคบ่าย

มุมมองจากผู้ส่งออกและตลาดจีน

ภาคบ่ายสัมมนาหัวข้อ “เจาะลึกตลาด เพิ่มโอกาสส่งออกผลไม้ไทย” โดยมี พันเอกไชยสิทธิ์ ตันตยกุล นายทหารปฏิบัติการประจำสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย(ผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ไทย-จีน)เป็นผู้ดำเนินรายการ รายละเอียดดังนี้

ดร. วิรังรอง สงสังข์ แห่ง Siam Fresh Mart ผู้ส่งออกมะม่วงอบไอน้ำรายใหญ่ที่สุดไปญี่ปุ่นและเกาหลี ได้กล่าวถึงการส่งออกมะม่วงไปยังญี่ปุ่นว่า ต้องผ่านการอบไอน้ำก่อน พันธุ์ที่นิยม คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก เขียวเสวย ฯลฯ การนำเข้านั้นผ่านบริษัทตัวแทน ข้อดีคือราคาสูง แต่ต้องได้มาตรฐานตามที่ตกลงกัน ล่าสุดมีกำหนดสารเคมีตกค้างทั้งชนิดและปริมาณในมะม่วงที่นำเข้า เกษตรกรต้องปรับตัว คนญี่ปุ่นกินจะซื้อเป็นลูก ไม่ชั่งกิโลแบบไทย ขนาดที่นิยมที่สุด คือ ขนาด3 ลูก/ กิโลกรัม ช่วงที่ขายดีที่สุด คือ อากาศอุ่นๆ เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี เราต้องทำการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าเพื่อใช้ต่อรองราคาอย่างน้อยๆ 20 วัน โดยกำหนดปริมาณ คุณภาพ และ ขนาดได้ แต่ราคานั้นเกษตรกรมักจะรอดูราคาตลาดในไทย

การส่งออกไปญี่ปุ่น ปี 2010 มีปริมาณ 1,500 ตัน สูงสุด ปี 2012 ส่งออก 1,800 ตัน ปี 2017 ส่งออก 1,400 ตัน ปริมาณความต้องการ นำเข้าประมาณ 10,000 ตัน/ ปี รายใหญ่คือ ฟิลิปปินส์ ประมาณ 4,000 ตัน ข้อจำกัดของไทย คือ ผลไม้ไทยราคาแพง เดิมเราเคยส่งออกมะม่วงนอกฤดู แต่ปัจจุบันไทยทำได้น้อยลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

ตลาดมะม่วงส่งออกของไทยที่มาแรงคือเกาหลี แม้ว่าเกาหลีเพิ่งอนุญาตให้นำเข้ามะม่วงจากไทยได้ 7-10 ปีที่ผ่านมา แต่เกาหลีบริโภคมะม่วงไทยอยู่ประมาณ 8,200 ตัน/ ปี มากกว่าญี่ปุ่นหลายเท่าตัว การนำเข้ามะม่วงจากไทยไปลงที่ตลาดค้าส่งที่กรุงโซล แล้วร้านค้าย่อยมาซื้อต่อ และขณะนี้เริ่มมีการเจรจานำเข้าส่งไปห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เลย จะได้ถึงมือผู้บริโภครวดเร็วขึ้น

Mr. Zhu Qidong ผู้แทน บริษัท Pagoda เป็นบริษัทนำเข้าผลไม้ไทยอันดับ 1 ผลไม้สำคัญที่นำเข้าจากไทย เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว และกล้วย ตามลำดับ โดยวิธีการกระจายสินค้าจะจำหน่ายผ่านหน้าร้านค้าของตนเอง ทุเรียนจะเป็นที่นิยมมากสุด โดยมียอดขาย 55% ของผลไม้ไทยทั้งหมด เนื่องจากรสชาติ และจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากไทยได้ประเทศเดียว ผลไม้ที่น่าจับตามมองคือลองกองเป็นผลไม้อีกชนิดที่คนจีนสนใจ ทดลองส่งทางเรือ ได้รับการตอบรับดี

เงื่อนไขการรับซื้อของบริษัท เน้นคุณภาพต้องมาก่อน อย่างเช่น ทุเรียน ไม่มีการจุ่มขมิ้น (เพิ่มสีให้ทุเรียน) มีการตั้งชื่อทุเรียนตามคุณลักษณะของทุเรียนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงความแตกต่าง เช่น หมอนทอง กระดุม ก้านยาว ฯลฯ (ตามชื่อทุเรียนไทย)

นอกจากนี้ ได้ให้มุมมองทางการพัฒนาว่า ประเทศไทยต้องทำให้คุณภาพไม่สม่ำเสมอ เช่นผลไม้หลัก มังคุดมีปัญหาเรื่องเนื้อแก้ว ผลไม้ชนิดรอง เช่น เงาะ ลองกอง ขาดการประชาสัมพันธ์ คนจีนบางส่วนยังไม่คุ้นเคย อย่างไรก็ดีมองว่าไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำการส่งออกผลไม้โลกได้

ผู้ร่วมเสวนาอีก 3 ท่าน คือ Ms.He Xiaohong ผู้แทนสหพันธ์ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ มณฑลกว่างสี (Guangxi) ได้พูดถึงจุดแข็งของบริษัทที่จะให้บริการขนส่ง บอกว่ามีระวางจอดเรือ 79 จุด เชื่อมโยงการขนส่งทั้งทางบกและเรือ สอดคล้องนโยบาย one belt one road ของจีน มีห้องเย็นใหญ่สุดในกว่างสี มีเส้นทางการขนส่ง Beibu Gulf Port กับท่าเรือแหลมฉบัง ใช้เวลาเดินทาง 5 วัน Ms.Liang Liyuan ผู้แทนบริษัทผิงเสียง (XiangXiang) – A global leading company of cross-border logistics between China and ASEAN เป็น partner การค้าระหว่างประเทศ เส้นทาง ผิงเสียง ไป เฉงตู เซี่ยงไฮ้ เวียดนาม ลาว ไทย (ผ่านชุมพร จันทบุรี) บริษัทให้บริการการนำเข้า-ส่งออกแบบครบวงจร

ปิดท้ายด้วย Mr.Huang Guoping ผู้แทนบริษัท สปีด inter transport บอกว่าบริษัทให้บริการรถหัวลากและตู้ขนส่ง เส้นทางไทย ลาว เวียดนาม จีน (ผ่านด่านผิงเสียง) ตลาดขายส่งผลไม้อาเซียน ด่านผิงเสียง เส้นทางตรงสายใหม่ แหลมฉบัง ท่าเรือจินโซว ใช้เวลา 4 วัน

ปัญหาอุปสรรคในปัจจุบันที่จะต้องแก้ไขและส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลางผลไม้เมืองร้อน คือการขนส่งทางบกของผลไม้ไทยเพื่อเข้าจีนยังไม่มีกฎหมายยืนยันแน่ชัดว่าถูกต้องหรือไม่ เส้นทางการขนส่งทางบกต้องแก้ไขให้ไม่สามารถรองรับการขนส่งได้มากกว่าเดิม อีกทั้งยานพาหนะและอุปกรณ์ในการขนส่งมีสภาพเสื่อมโทรม ผู้ค้าไม่กล้าลงทุนเนื่องจากกฎหมายไม่ชัด

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบของที่ระลึกแก่ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบของที่ระลึกแก่ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โดยสรุปมองว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางผลไม้เขตร้อนมาก เพราะว่าระยะเวลาขนส่งทางบกจากไทยไปจีนที่ผิงเสียง ใช้เวลาเพียง 4 วัน ผลไม้ยังไม่เน่าเสีย ผิงเสียงเป็นเมืองทางผ่านของทั้งผลไม้เมืองร้อนและหนาว มีโรงงานแปรรูปหลายโรง ท่าเรือชิงโจว และอีก 2 ท่าอยู่ใกล้อ่าวตังเกี๋ย ซึ่งท่านี้เหมาะกับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ มากกว่าอีก 2 ท่า ในอนาคตจะมีการสร้างเส้นทางรถไฟจากศูนย์กลางของจีนมายังท่าเรือนี้ และระยะทางจากผิงเสียงไปหูหนาน ใช้เวลาประมาณ 2 วัน

อีกข้อมูลหนึ่งที่เสริมว่าประเทศไทยมีโอกาสคือ มีการแอบอ้างผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นผลไม้ของไทย และราคาถึงปลายทางสูง แต่ผู้บริโภคยังนิยมเพราะรสชาติดี.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated