ปกติมะขามเปรี้ยวเก็บจากธรรมชาติไม่นิยมปลูกเหมือนมะขามหวาน เพิ่งมาปีหลัง ๆ ที่มีการโฆษณาว่ามีมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักใหญ่เจ้านั้นเจ้านี้ ทำให้ตลาดคึกคักและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่ามะขามเปรี้ยวยักษ์จะมีโอกาสเป็นพืชเศรษฐกิจได้ เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้มากมาย
คุณเรืองศักดิ์ กมขุนทด และคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตร เจ้าของผลงานวิจัยน้อยหน่ายักษ์เพชรปากช่องที่เคยสร้างความฮือฮามาแล้ว มาบัดนี้ ได้ทำงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์ โดยเริ่มต้นทำงานวิจัยชิ้นนี้มาตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ได้ทำการรวบรวมพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์จากทั่วประเทศมาได้ 14 พันธุ์ เพื่อนำมาปลูกศึกษาการใช้ประโยชน์และเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ โดยพบว่ามีพันธุ์ที่น่าสนใจจำนวน 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ดกกิ่งหัก พันธุ์สะทิงพระ พันธุ์สระแก้ว และพันธุ์ปากช่อง 1 โดยที่แต่ละพันธุ์มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์สะทิงพระ ฟักรูปดาบยาว 19.56 ซม. กว้าง 3.77 ซม. ข้อด้อยคือฟักแบน ในขณะที่พันธุ์ปากช่อง 1 ฟักสั้นกว่า แต่เด่นที่ฟักหนากวา อ้วนกว่า เช่นเดียวกับอีก 2 พันธุ์ ที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งคุณสมบัติของการนำมาใช้ประโยชน์หรือแปรรูปเพิ่มมูลค่าก็มีความแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่โดยรวมถือว่าเป็นพันธุ์ที่โดดเด่น
“โจทย์ของเราก็คือทำอย่างไรจึงจะนำจุดเด่นของมะขามยักษ์แต่ละพันธุ์มาเสริมกันและกัน เพื่อให้เด่นที่สุด มันเป็นงานที่ท้าทาย แต่เรามั่นใจว่าทำได้” คุณเรืองศักดิ์ กล่าว โดยบอกว่าสิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ มะขามยักษ์ลูกผสมที่จะต้อง “ใหญ่ ยาว หนา (หนัก) ฟักตรง” และบอกอีกว่าขณะนี้งานวิจัยเพื่อการปรับปรุงพันธุ์ได้เริ่มต้นมา 15 ปีเต็มๆแล้ว ปกติงานปรับปรุงพันธุ์ไม้ผลจะรู้ว่าดีหรือไม่ดีต้องใช้เวลานานถึง 20 ปี “เราคาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 ปี งานปรับปรุงพันธุ์มะขามยักษ์พันธุ์ใหม่ก็จะสำเร็จได้”
สำหรับมะขามเปรี้ยวยักษ์ จำนวน 4 พันธุ์ที่ได้นำมาแนะนำในคราวนี้ (แนะนำในงานเกษตรแห่งชาติ 2561) ถือว่าเป็นพันธุ์ที่โดดเด่นที่สุดในวงการมะขามมะขามยักษ์เวลานี้ “เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เหมาะที่จะทำเป็นการค้าในอนาคต” ซึ่งทางคุณเรืองศักดิ์ และคณะ ได้นำตัวอย่างฟักสุกมาแจกจ่ายให้กับผู้เยี่ยมชมคนละ 1 ฟัก เพื่อให้ไปชิมรสชาติความเปรี้ยว และหากถูกใจจะมาขอซื้อต้นพันธุ์ไปปลูกก็มีไว้บริการ ในราคาต้นละ 100 บาท เป็นต้นพันธุ์แบบต่อกิ่งหรือเสียบยอด นำไปปลูกประมาณ 3 ปีก็จะออกฟัก ซึ่งหากเพาะปลูกจากเมล็ดจะใช้เวลานานถึง 8 ปี
ได้สอบถามคุณเรืองศักดิ์ถึงการปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ ได้รับคำตอบว่าปลูกง่าย “ดินที่ปลูกอย่างอื่นไม่ขึ้นปลูกมะขามได้” และยังได้พูดถึงโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งขณะนี้มีการโฆษณาขายกันมาก แต่ไม่รู้ประวัติและแหล่งที่มาของสายพันธุ์ชัดเจน (ผู้สนใจดูได้จากคลิปวิดีโอท้ายนี้)
ก็หวังว่าอีก 5 ปี คนไทยจะได้มีพันธุ์มะขามเปรี้ยวฟักยักษ์พันธุ์ใหม่อันเป็นผลงานปรับปรุงพันธุ์ของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “จาก 4 ยักษ์ ก็จะมาเป็น 1 ยักษ์” โปรดอดใจรอคอยครับ