“ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่”
“ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” ถูกค้นพบที่ป่าเต็งรัง ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ได้สนับสนุนทุนวิจัย โดยใช้งบประมาณจากเงินรายได้ ปี พ.ศ. 2558 ให้ทำวิจัยเรื่อง “การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่ป่าธรรมชาติของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – แพร่ เฉลิมพระเกียรติ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แหลมไทย อาษานอก อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ เป็นผู้นำทีม จึงได้ร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.วช.) โดยมี ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง และ นายภัทรวิชญ์ ดาวเรือง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงเข้าร่วมสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพื้นที่วิจัยมีสภาพเป็นป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ มีเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่ ผลการสำรวจเราได้พบตั๊กแตนชนิดหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และคิดว่านี่อาจจะเป็นตั๊กแตนชนิดใหม่ของโลก จึงได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อระบุชนิด (species identification) อย่างละเอียด โดยได้รับคำปรึกษาจาก Prof. S. Yu. Storozhenko แห่ง Institute of Biology and Soil Science, Russia ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญตั๊กแตนของโลก หลังจากที่ได้ทำการพิสูจน์ชนิดเรียบร้อยแล้วจึงพบว่าตั๊กแตนชนิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นชนิดใหม่ของโลก (new species) แต่เป็นถึงสกุลใหม่ของโลก (new genus) ซึ่งมีโอกาสยากมากที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิตสกุลใหม่ของโลกในปัจจุบัน เราจึงตั้งชื่อสกุลให้ตั๊กแตนชนิดนี้ว่า Anasedulia เนื่องจากแผ่น subgenital ที่ปลายท้องของตัวผู้ยื่นยาวและแยกเป็นสองอัน และให้คำระบุชนิดเป็น maejophrae เพื่อให้เกียรติแก่สถานที่ค้นพบ รวมเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anasedulia maejophrae หรือ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่” หลังจากนั้นเราจึงได้เขียนเป็นบทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ชื่อ Far Eastern Entomologist ฉบับ September 2015 เพื่อเป็นการยืนยันการค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกในครั้งนี้

ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ เพศผู้
ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ เพศผู้

ลักษณะเด่น : ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae) เป็นตั๊กแตนหนวดสั้นใน เผ่า Gereniini ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือปีกมีรูปทรงคล้ายเกล็ด (เล็กสั้น ปลายแหลมหรือมน) และขอบของปีกแต่ละข้างไม่สัมผัสกัน เป็นตั๊กแตนขนาดกลาง สีพื้นฐานสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาล มีแถบสีขาวพาดจากหลังตาถึงข้างอกอย่างชัดเจน ปีกสั้น ปลายแหลม เส้นปีกที่ช่วงปลายปีกไม่ขนานกัน มีจุดสีดำมันวาว 1-2 จุดบนปีกใกล้ฐานปีกคู่บน ขาคู่หลังมีลายสีดำพาดสามแถบ ในตัวผู้แผ่น subgenital ยาวและแยกออกเป็นสองอันชัดเจน ในตัวเมียมีอวัยวะวางไข่ที่สั้น

ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ เพศเมีย
ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ เพศเมีย

ความสำคัญ: การค้นพบ “ตั๊กแตนแม่โจ้แพร่ (Anasedulia maejophrae)” ในครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการศึกษาทางอนุกรมวิธานของตั๊กแตนในประเทศไทยอย่างจริงจัง นอกจากนั้นตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกนี้ ณ ปัจจุบันยังพบได้เพียงแค่ในพื้นที่ป่าเต็งรังภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ เท่านั้น และยังพบว่าเป็นสกุลเฉพาะถิ่น (endemic) ของประเทศไทยอีกด้วย จึงควรส่งเสริมให้มีการศึกษาในเชิงลึกต่อไป การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่ย่อมสามารถอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ แม้มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จะมีผืนป่าอนุรักษ์เพียงเล็กน้อยยังสามารถค้นพบตั๊กแตนสกุลใหม่ของโลกได้ ดังนั้นหากช่วยกันรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ของชาติให้คงอยู่ ย่อมสามารถรักษาความหลากหลายของสรรพชีวิตได้อย่างมากมายและยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated