จากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 61 ที่ผ่านมา ดร. ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน ผศ. รัชด ชมภูนิช รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร ผศ.ดร. สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม และคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม)
โดยการศึกษานี้เพื่อทบทวนและเสนอแนะการดำเนินโครงการด้านคมนาคมขนส่งใดๆ เพื่อใช้ประโยชน์เสาตอม่อ ที่ก่อสร้างไว้แล้วบนกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร-นวมินทร์) โดยศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบเบื้องต้น และประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการ บริษัทที่ปรึกษาได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการ 4 รูปแบบ คือ รูปแบบทางเลือกที่ 1 – การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน รูปแบบทางเลือกที่ 2 – การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจากตอน N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) รูปแบบทางเลือกที่ 3 – การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และรูปแบบทางเลือกที่ 4 – การพัฒนาทั้งสองระบบ คือ ระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน
จากผลการศึกษา บริษัทที่ปรึกษากล่าวเหมาสรุปว่า รูปแบบทางเลือกที่ 4 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยระบบทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรรีบดำเนินการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางสายหลัก ที่ต้องเสร็จสิ้นก่อนการเปิดใช้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เนื่องจากสายสีน้ำตาลเป็น feeder ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างระบบขนส่งมวลชนทางรางสายหลัก
ซึ่ง ดร. ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่า มก. พร้อมสนับสนุนการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน คือ สายสีน้ำตาล เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเมือง ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาฝุ่นละออง ที่เรียกว่า PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจได้ อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งฝุ่นละอองนี้มีสาเหตุหลักมาจากการใช้รถยนต์ การพัฒนาใดๆ ก็ตาม มก. สนับสนุนการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ส่งผลเสียต่อประชาชนในปัจจุบันและอนาคต
ด้าน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ดีที่สุด ทำได้โดยการลดที่ต้นกำเนิด คือ ลดการใช้รถยนต์ ดังนั้น การก่อสร้างทางด่วนบนแนวสายทางนี้ จะเป็นการดึงเอารถยนต์จำนวนมาก ผ่านเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัย ทำงาน และศึกษาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น มก. จึงสนับสนุนทางเลือกที่ 1 คือ พัฒนาเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1
ต่อจากนั้น ผู้แทนจากชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวสายทาง เช่น ชุมชนบางบัว ชุมชนปัฐวิกรณ์ ผู้แทนจากหมู่บ้านธนะสิน ผู้แทนจากนวธานี ผู้แทนจากสภาวิชาการ ได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ มก. ในการพัฒนาเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษต่อประชาชนในเมือง ส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ และการสร้างทางด่วนบนรถไฟฟ้าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากถนนเกษตร-นวมินทร์ มีปัญหาการจราจรติดขัดเฉพาะบริเวณทางแยก การสร้างสะพานลอยข้ามทางแยกทุกแห่ง จะช่วยแก้ปัญหาได้เพียงพอแล้ว หากมีการสร้างทางด่วนบนรถไฟฟ้า จะต้องสร้างตอม่อเพิ่ม ปัจจุบัน ถนนเกษตร-นวมินทร์ มีตอม่อทุกระยะ 40 เมตร หากมีทางด่วน จะมีตอม่อเพิ่มเป็นทุกระยะ 20 เมตร ทำให้ทัศนียภาพแย่ลงมาก
นอกจากนี้ ผู้แทนจากชุมชนยังมีความเป็นห่วงเรื่องการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างทางต่างระดับเชื่อมเข้ากับทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และบริเวณจุดขึ้นลงทางด่วนอีกด้วย