มหาวิทยาลัยเกษตรเดินหน้า พัฒนาทายาทเกษตรกร ยึดโรงเรียน ชุมชน หวังสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัย เสริมอาชีพและรายได้สู่ความยั่งยืน…
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ดูงานโครงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ครู เกษตรกร และทายาทเกษตรกร เรื่อง “ระบบเกษตรปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ ที่ชุมชน ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในการเข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา ผสมผสานกับองค์ความรู้ของศาสตร์แห่งแผ่นดินรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
รศ.ชูเกียรติ รักซ้อน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ม.เกษตรฯ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการในเขตพื้นที่ดังกล่าวว่าได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนหมู่ 10 และหมู่ 11 โรงเรียนศาลาตึกวิทยาหมู่16 และโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่ทายาทเกษตรกรด้านการทำเกษตรปลอดภัย อบรมการทำเตาไบโอชาร์ซึ่งสามารถนำถ่านไบโอชาร์ที่ได้จากการเผาไหม้มาปรับปรุงบำรุงดิน นอกจากนี้ยังได้จัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว แปลงปลูกข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 และโรงเพาะเห็ดนางรมดำให้กับนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อผลในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสร้างโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้แก่กลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจ ทำให้มีความมั่นคง สันติสุข และยั่งยืนในอนาคต
“พื้นที่บริเวณนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกข้าวโพดฝักอ่อน รับจ้างกรีดข้าวโพด เลี้ยงโคนม ทำไร่อ้อย และกระชาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการวิเคราะห์ชุมชนร่วมกันจึงได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนพันธุ์เกษตรศาสตร์ 3 ซึ่งเป็นข้าวโพดพันธุ์ไม่ถอดยอด มีรสชาติหวานอร่อย ใบนิ่ม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจากการปฏิบัติจริง สำนักส่งเสริมและฝึกอบรมจึงได้จัดทำแปลงทดสอบเพื่อเรียนรู้คุณสมบัติของพันธุ์ วิธีการปรับปรุงบำรุงดิน วิธีการใส่ปุ๋ยอย่างถูกหลักวิชาการให้แก่ชุมชน” รศ.ชูเกียรติ กล่าว
ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ฯ กล่าวว่า ประเทศไทย 4.0 การเกษตรเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องมุ่งไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพด้วย ซึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้นเราต้องร่วมผลักดันเกษตรกรรุ่นใหม่และ ทายาทเกษตรกร โดยมีวิถีเกษตรเป็นฐานใช้แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันในชุมชน เรื่อง“ระบบเกษตรปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”
อนึ่ง โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อสร้างหรือนำการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางและลักษณะที่พึงประสงค์ขององค์กร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ.นครปฐม จ.สุพรรณบุรี จ.อ่างทอง และ จ.สิงห์บุรี โดยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา