เกษตรฯ ปลื้ม “ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมัน” ลดนำเข้าพันธุ์ปาล์มต่างประเทศ 800 ล้าน
ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมัน

กรมวิชาการเกษตร โชว์ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 8 พันธุ์ สร้างรายได้และเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร  พื้นที่ปลูกล้านไร่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.3 ตัน / ปี เซฟเงินนำเข้าปาล์มต่างประเทศถึง 800 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น

นายลักษณ์  วจนานวัช
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางตรวจราชการในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมผลงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเชื้อพันธุกรรมที่สำคัญจากแหล่งปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น อัฟริกา และอเมริกาใต้

นายสุวิทย์  ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  รายงานว่า  ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1-8 จำนวน 8 พันธุ์ และปัจจุบันมีการพัฒนาพันธุ์ใหม่ คือ ปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี 9 โดยตั้งแต่ปี 2541-ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้กระจายพันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพให้กับเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จำนวน 32 ล้านเมล็ดงอก คิดเป็นต้นกล้า 24 ล้านต้น พื้นที่ปลูกจำนวน 1.1 ล้านไร่ คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด โดยเกษตรกรใช้พันธุ์ลูกผสมเทเนอราตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 ตัน/ไร่/ปี เมื่อคิดตามพื้นที่ปลูกจำนวน 1.07 ล้านไร่ จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านตัน / ปี ทำให้ช่วยลดการนำเข้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศรวมที่ผ่านมาจำนวนประมาณ 800 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร  โชว์ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 8 พันธุ์
กรมวิชาการเกษตร โชว์ผลงานวิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 8 พันธุ์

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาแนวทางการปรับเปลี่ยนพันธุ์ปาล์มน้ำมันสำหรับสวนที่ให้ผลแล้วแต่ผลผลิตต่ำเนื่องจากการใช้พันธุ์ที่ไม่ได้คุณภาพและจัดทำแผนปรับปรุงพันธุ์และผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมัน เพื่อพัฒนาปาล์มน้ำมันพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง 4-5 ตัน/ไร่/ปี  มีลักษณะต้นเตี้ย และเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อทะลายมากกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ หรืออัตราการสกัดโรงงานมากกว่า 21 เปอร์เซ็นต์ โดยให้มีการกระจายพันธุ์ปีละ 2.5-3 ล้านเมล็ดงอก คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 1 แสนไร่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated