เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้ว ที่ราคาหมูไทยตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากอุตสาหกรรมยังไม่มีการรวบรวมผู้ประกอบการและขนาดการผลิต จากจำนวนผู้เลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมที่มีอยู่ประมาณ 195,000 ราย
ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยมีแม่พันธุ์หมูประมาณ 1.3-1.4 ล้านตัว ซึ่งระดับแม่พันธุ์ที่ทำให้เกิดความสมดุลของผลผลิตไม่ควรเกิน 1 ล้านตัว เท่ากับมีแม่หมูเกินอยู่ประมาณ 3-4 แสนตัว ส่งผลให้มีผลผลิตลูกหมูขุนออกมาเกินความต้องการของตลาดวันละ 4.5-5 หมื่นตัว จากความต้องการบริโภคของตลาดที่มีไม่เกิน 4.2 หมื่นตัวต่อวัน ปริมาณที่เกินความต้องการราวๆ 3,000-8,000 ตัวต่อวัน ทำให้ราคาหมูตกต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน สร้างความเสียหายทั้งอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมหาศาล และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ภาระหนี้สิน และผลขาดทุนทั้งอุตสาหกรรม
แม้วันนี้สถานการณ์จะดูเหมือนดีขึ้น แต่เบื้องหลังนั้นใครจะรู้ว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจโดยแท้ของพี่น้องเกษตรกรและภาคเอกชนในวงการเลี้ยงหมู ที่เดินหน้าช่วยกันแก้ปัญหา เรียกว่า “ผู้เลี้ยงรวมใจ รายใหญ่ร่วมตัดวงจรหมูต่อเนื่อง” ด้วยการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาราคาหมูตกต่ำ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ หรือพิกบอร์ด (Pig Board) ที่เห็นชอบหลักการตามที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเสนอ
ตั้งแต่การลดจำนวนหมูขุนเข้าเลี้ยงด้วยการนำลูกหมูหย่านมไปผลิตเป็น “หมูหัน” เป้าหมายจำนวน 100,000 ตัว โดยภาคส่วนผู้ผลิตได้จับมือกันจัดกิจกรรมตัดวงจรลูกหมูมากว่า 3 เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีพี่ใหญ่ในวงการอย่าง ซีพีเอฟ เบทาโกร ไทยฟู้ดส์ ฟาร์มพนัสโภคภัณฑ์ ที่นำร่องไปก่อนด้วยการนำหมูไปทำหมูหัน 30,000 ตัว เป็นประเดิม ต่อมาฟาร์ม SPM-ราชบุรี VPF-เชียงใหม่ กลุ่มแหลมทองสหการ RMC-บุรีรัมย์ ที่ร่วมกันลดปริมาณหมูขุนเพิ่มอีก และยังมีฟาร์มต่างๆเสนอตัวร่วมโครงการต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันมาตรการปลดระวางแม่พันธุ์หมูจำนวน 100,000 ตัว เกษตรกรมีการปลดแม่พันธุ์โดยธรรมชาติจากสภาวะขาดทุน ที่สำคัญยังมีผู้เลี้ยงรายย่อยที่จำเป็นต้องเลิกเลี้ยงหมูไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15% หลังแบกรับภาระขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จากราคาขายหมูที่ตกต่ำ ดังจะเห็นได้จากราคาขายหมูเป็นหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม จากปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่วันนี้ราคาปรับไปเกือบ 11 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว นั่นเท่ากับเกษตรกรต้องขาดทุนถึงประมาณ 2,000 บาทต่อตัว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนตัดสินใจเลิกเลี้ยงไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนมาตรการสุดท้ายของ Pig Board คือการนำหมูขุนมาชำแหละแล้วเก็บเข้าห้องเย็นจำนวน 100,000 ตัวนั้น ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องหลักประกันวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ คือ ต้องวางแบงค์การันตีค้ำประกันวงเงินที่ได้รับเต็มจำนวน ซึ่งไม่มีเกษตรกรรายใดที่มีวงเงินสินเชื่อ (Credit Facility) กับธนาคารพาณิชย์ที่จะสามารถนำมาใช้ค้ำประกันเต็มจำนวน ทำให้โครงการนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกว่า นอกจากมาตรการต่างๆที่กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการ Pig Board ยังให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ลดการผลิตลูกหมูลง 10% ด้วยการชะลอการผสมแม่พันธุ์หมูเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 1 รอบการผลิต นับจากเดือนมกราคมเป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปริมาณลูกหมูลงได้อย่างน้อย 400,000 ตัว นอกจากนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังตั้งทีมคณะกรรมการกฎหมายเพื่อร่วมผลักดันให้นำพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาใช้ โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้ยื่นหนังสือขอเสนอให้พิจารณาเรื่องการจดทะเบียนฟาร์มสุกรให้เป็นภาคบังคับ ถึง Pig Board ผ่านนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมหมูให้มีประสิทธิภาพ โดยเสนอให้กรมปศุสัตว์ใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกกฎหมายรองหรือวิธีการใดๆ เพื่อให้การขึ้นทะเบียนฟาร์มหมูเป็นภาคบังคับ ซึ่งจะก่อผลดีตามมา ตั้งแต่ความครอบคลุมในการควบคุมโรคระบาด และการให้วัคซีนโรคที่จำเป็น เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย, สามารถขยายผลด้านมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานฟาร์ม เพื่อคุณภาพการผลิตที่ดีและมีปริมาณพอเพียงต่อการบริโภคภายในประเทศ และต่อยอดการตลาดต่างประเทศ, สร้างเสถียรภาพราคาทั้งหมูขุนและเนื้อหมูให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน, เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในแต่ละชุมชนจะดีขึ้น, ช่วยควบคุมการขยายที่เกินกว่าปกติของผู้ประกอบการใดๆ ที่ต้องมีตลาดใหม่รองรับ ป้องการเข้าไปครอบงำตลาดระหว่างผู้เลี้ยงต่างพื้นที่ รวมถึงช่วยปกป้องและสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ บอกอีกว่า ราชบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงหมูมากที่สุดของประเทศ สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี ได้ยืนหยัดผลักดันราคาหมูให้ดีขึ้น โดยการจัดกิจกรรมจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกพิเศษมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบันเป็นเดือนที่ 5 ทำให้ราคาหมูขุนปรับตัวดีขึ้นมาตลอด ซึ่งเป็นผลดีกันทั้งประเทศ ล่าสุดเทศบาลเมืองโพธาราม ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกาญจนบุรี ร่วมกันจัดงานกินหมูและประเพณีสงกรานต์ “เทศกาลกินหมูโพธารามและงานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ครั้งที่ 3” ปี 2561 ตั้งแต่วันนี้ – 13 เมษายน ศกนี้ ณ ริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดในเทศกาลสงกรานต์ และส่งเสริมการบริโภคเนื้อหมูในหลากหลายเมนู
“เกษตรกรทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยวิธีช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก โดยทำทุกทางเพื่อลดปริมาณลูกหมู อีกด้านหนึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งกองทุนวัคซีน และกองทุนกากถั่วเหลืองเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการลดต้นทุนตัวเอง มีเพียงเรื่องเดียวคือการยื่นขอสนับสนุนโครงการตัดวงจรลูกหมูทำหมูหันซึ่งยังไม่มีคำตอบจากภาครัฐ วันนี้สิ่งที่เกษตรกรอยากร้องขอจากผู้บริโภคคือ การหันมาบริโภคเนื้อหมูให้มากขึ้น ในภาวะที่ราคาหมูตกต่ำเช่นนี้ เชื่อว่าจะช่วยคลายทุกข์ของเกษตรกรได้ไม่มากก็น้อย” นายสัตวแพทย์วิวัฒน์
ปัญหาราคาหมูตกต่ำที่วนเวียนเป็นวัฎจักรดังที่เป็นอยู่นี้ ใช่ว่าจะไม่มีหนทางแก้ หากแต่การแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบโดยมีภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้นำ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทยที่วันนี้แม้จะเป็นวิกฤติของเกษตรกร แต่ต้องถือเป็นโอกาสที่จะได้ยื่นมือมาช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการหันมาบริโภคเนื้อหมูให้มากขึ้น เพื่อต่อลมหายใจให้กับพี่น้องเกษตรกรให้ทำอาชีพนี้ได้ต่อไป./