ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์
ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ (ซ้ายมือ) เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวว่า อาชีพเกษตรกรทำงานเหนื่อยหนักทั้งชีวิตแต่ไม่มีสวัสดิการอะไรเหมือนกับอาชีพอื่นที่หน่วยงานมีประกันสังคม หรือข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญดูแล ในฐานะที่สภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นตัวแทนเกษตรกรได้แสวงหาวิธีการสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอด วันนี้พบว่ากองทุนการออมแห่งชาติที่กระทรวงการคลังดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นวิธีการที่เกษตรกรสามารถใช้เป็นหลักประกันในชีวิตหลังวัย 60 ปีได้ จนกระทั่งได้มีการหารือกันกับกองทุนการออมแห่งชาติและนำสู่การทำบันทึกข้อตกลง(MOU.) กันเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2560 ณ กระทรวงการคลัง จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้รับความคุ้มครองยามชราในรูปของเงินบำนาญเป็นการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง เกษตรกรจะรู้จักการออมพร้อมทั้งรัฐบาลจะสมทบให้ตามช่วงวัยเพื่อเป็นหลักประกันทางการเงินในยามวัยเกษียณเช่นเดียวกับระบบบำนาญข้าราชการ หรือพนักงานในระบบที่มีนายจ้างดูแล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศให้ได้รับสวัสดิการด้านบำนาญจากรัฐอย่างทั่วถึง

“ปัญหาขณะนี้คือเกษตรกรยังไม่เข้าใจเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ สภาเกษตรกรฯจึงต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่ามีประโยชน์อย่างไร หลังจากออมเงินแล้วจะช่วยเหลือ ดูแลพี่น้องเกษตรกรได้อย่างไรในบั้นปลายชีวิต”

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล่าวต่อไปว่า สภาเกษตรกรฯมีสมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด โดยจะใช้เครือข่ายดังกล่าวในการสร้างความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ต่างๆของตัวเกษตรกรเองรวมทั้งเป็นบำนาญส่งต่อไปยังลูกหลาน พร้อมทั้งผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีสมาชิกรวม 529,663 คน ซึ่งในปี 2561 กระทรวงการคลังได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนสมาชิก กอช. ไว้ที่ 1.2 ล้านคน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated