ขอแจ้งความคืบหน้าให้กับทุกท่านทราบว่า…ขณะนี้การสัมมนา “มะพร้าวน้ำหอม โอกาสทองของเกษตรกร จริงหรือ?” วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2559 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังดำเนินไปด้วยความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมสัมมนาที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นผู้ปลูกเก่า และผู้ปลูกใหม่ จากจังหวัดต่างๆ 4 ภาคทั่วไทย
(กำหนดการ /วิธีสมัคร /แผนที่สถานที่สัมมนา http://goo.gl/reGZay) (หรือ โทร. 089 7877373)
แต่ละคนต่างมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้ เพื่อนำวิชาไปใช้กับสวนของตนเอง
“ผมมีโครงการจะปลูก 400 ไร่ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพื้นที่ใกล้เคียงกันเขาปลูกมะพร้าวใหญ่กันเยอะ ไม่รู้ว่าผมจะปลูกได้หรือเปล่า และดินมันจะเหมาะกันไหม ผมต้องเก็บตัวอย่างดินไปให้ดูหรือไม่” นี้เป็นคำถามหนึ่งที่มาจากเกษตรกรรุ่นใหม่
เกษตรกรรุ่นใหม่ เริ่มตระหนักว่า ทุกวันนี้จะทำเกษตรต้องอ้างอิงหลักวิชาการ และเป็นเกษตรที่ต้องการความแม่นยำสูง … “ไม่สะเปะสะปะ”… “ไม่ดำน้ำ”… “ไม่รู้งูๆปลาๆ”… “ไม่ทิ้งขว้าง”…”ไม่ให้เทวดาเลี้ยง”… “ไม่ตามมีตามเกิด”…“ไม่แค่ไหนแค่นั้น”...(เป็นตัวอย่างประโยคที่ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาได้ถ่ายทอดออกมา เหมือนจะบอกว่า ทำเกษตรสมัยใหม่ต้องรู้จริงเท่านั้น…นี้คือคาถาอันศักดิ์สิทธิ์)
ขอยกตัวอย่างผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 2 ท่าน ที่ทำสวนมะพร้าว …เรามาดูกันว่าเขามีมุมมองในอาชีพอย่างไรบ้าง?
ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม เพราะภรรยาชอบดื่มน้ำมะพร้าว
ท่านแรกนั้นคือคุณสมยศ พาณิชย์ศิริ ทำสวนมะพร้าวน้ำหอม อยู่ที่ลุ่มน้ำเวฬุ จังหวัดตราด บนพื้นที่ 85 ไร่ ได้ลงปลูกไปแล้วจำนวน 2,500 ต้น อายุระหว่าง 1.5-3.5 ปี ขณะนี้เริ่มทยอยออกผลผลิตบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มากพอสำหรับจำหน่าย มีแค่พอให้ได้รับประทานกันเองในครอบครัวและให้เพื่อนฝูงได้แวะมาชิมกันที่สวน
“พื้นฐานผมเป็นวิศวกรโยธา พอเกษียณจากบริษัทเอกชนก็เริ่มลงมือทำสวนมะพร้าวน้ำหอม สืบเนื่องจากภรรยาชอบดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ลูก มานานนับสิบปีแล้วครับ” นี่เป็นเหตุผลที่น่ารักมาก
การทำสวนมะพร้าวน้ำหอมของคุณสมยศ ริเริ่มมากับภรรยาคือ คุณเพ็ญศรี พาณิชย์ศิริ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มน้ำมะพร้าวตัวยง สามารถบอกว่าได้น้ำมะพร้าวที่ไหนหรือช่วงเวลาไหนรสชาติดีไม่ดีอย่างไร
“เรื่องรสชาติน้ำมะพร้าวที่สวนเราเยี่ยมเลยครับ เพราะสามารถควบคุมความเค็มจากน้ำทะเลได้ตามต้องการ ทำให้เป็นสวนมะพร้าวสามน้้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก็หอมหวานดีเหมือนกัน…เพื่อนๆที่ได้มาทดลองทานก็บอกว่ารสชาติดีทุกคน”
เหตุผลที่ต้องการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ คุณสมยศบอกว่า ตัวเขาเองนั้นไม่ได้จบทางด้านการเกษตร เมื่อมาทำสวนมะพร้าวก็รู้สึกว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ
“ดินที่สวนผม เป็นดินเปรี้ยวจัด ต้องปรับปรุงไปตามสภาพ…ผมจึงมีความคิดว่าเราต้องรู้เกี่ยวกับดินว่ามีธาตุอาหารอย่างไร มะพร้าวน้ำหอมต้องการธาตุอาหารอะไรบ้าง” นี้คือเรื่องที่อยากรู้
แน่นอนวันสัมมนาคุณสมยศ จะมาคู่กับภรรยา เหมือนอีกหลายคู่ หลายครอบครัวที่มาด้วยกันในคราวนี้
ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกลางสวนยางที่สุราษฎร์ฯ…มีมะละกอแซม
ขอนำทุกท่านลงไปดูการปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่ภาคใต้กันบ้าง เราได้พบกับคุณฐิติวัชร์ สิทธิศิรินนท์ ทำงานเป็นด่านป่าไม้ ประจำอยู่ที่ท่าน้ำพระประแดง จ.สมุทรปราการ แต่ไปปลูกมะพร้าวอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเกิด ปลูกไว้ทั้งหมดประมาณ 500 ต้น มี 2 แปลง แปลงแรกปลูกพืชเชิงเดี่ยว(มะพร้าวล้วนๆ) จำนวน 10 ไร่ อยู่ท่ามกลางสวนยางพารา แปลงที่ 2 ปลูกบนคันรอบสวนปาล์ม โดยใช้ระยะปลูก 6×6 (แปลงเดี่ยว) และ 6 เมตร (รอบสวนปาล์ม) ทำเป็นระบบน้ำหยด แต่ระยะต่อไปมีโครงการจะทำเป็นระบบสปริงเกอร์ โดยมีสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในสวนที่คิดว่าใช้ได้ตลอดปี
“ผมทำสวนยางพาราและสวนปาล์มมาก่อน ไม่ได้มีความรู้เรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอม จึงอยากรู้ว่าจะมีวิธีดูแลจัดการอย่างไรให้มะพร้าวเติบโตและมีผลผลิตที่ดี รวมทั้งอยากรู้ว่าตลาดในอนาคตจะมีความยั่งยืนแค่ไหน”
เกี่ยวกับผลการปลูก…
“ผมไปซื้อพันธุ์มาปลูกกับเพื่อนๆอีก 3-4 คน ที่อยู่ปากพนัง (จ.นครศรีฯ) กับผู้ขายพันธุ์ที่ดำเนินสะดวก(จ.ราชบุรี) ซื้อมาตั้งแต่ต้นเล็กๆบางต้นงอกแค่ 2-3 นิ้ว (เพื่อให้ง่ายแก่การขนส่งจำนวนมาก) ได้นำมาปลูกช่วงปลายฝนปีที่แล้ว เวลานี้ก็ถือว่างอกงามดีใช้ได้ แต่ก็ไม่รู้ระยะต่อไปจะเจอปัญหาอะไรอีกบ้าง”
ปัญหาการปลูกที่พบเห็นในระยะนี้ คือมะพร้าวทนร้อนไม่ค่อยไหว และอาจจะมีปัญหาเรื่องเชื้อราบ้าง (ตามความเข้าใจของคุณฐิติวัชร์) ทำให้มะพร้าวต้องตายจากไปประมาณ 20 ต้น
ในระหว่างที่รอให้มะพร้าวเติบโต คุณฐิติวัชร์ ได้ปลูกมะละกอพันธุ์เลดี้ ซึ่งเวลานี้ได้ให้ภรรยาไปขายตามตลาดนัดเก็บเงินไปพลางๆ
ยังมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคเหนือ (จ.ลำพูน) ที่ปลูกได้ผลผลิตแล้ว และหากไม่ผิดคิวก็จะนำมาให้ชิมสักลูกสองลูกด้วยว่าน้ำมะพร้าวรสชาติเป็นอย่างไร(จะเอามาหลายลูก แต่บังเอิญมาเครื่องบิน) และผู้ปลูกจากภาคอีสาน จ.บุรีรัมย์ จ.นครราชสีมา จ.หนองคาย ก็บอกว่าจะมาร่วมเช่นกัน
จึงหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย “โอกาสทองต้องเป็นของเกษตรกรไทยทุกคน” โดยทางคณะผู้จัดก็จะเตรียมความพร้อมไว้ให้ดีที่สุด เพื่อช่วยกันพัฒนาอาชีพทำสวนมะพร้าวน้ำหอมให้มีความยั่งยืนสืบต่อไป
หมายเหตุ : กรณีผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ตามตัวอย่างข้างต้น อาจจะดูว่าไม่มีปัญหามากนัก จริงๆแล้วที่มีปัญหามีมาก แต่ท่านเหล่านั้นขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่นำมาเผยแพร่ เช่น ที่สุโขทัย ปลูก 200 ต้น ตายไป 100 ต้น เพราะขาดน้ำ ที่กำแพงแสน นครปฐม ปลูกแล้วปลูกอีก (ตายแล้วตายอีก) ที่สุราษฎร์ธานี ปลูกพื้นที่นากุ้งเก่า 300 ต้น ตายไป 70 ต้น เพราะแล้ง (น้ำไม่ถึง) และไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะดินหรือไม่ (บางต้นโตบางต้นแกร็น) ฯลฯ ส่วนใหญ่ไม่มีเวลาไปดูแลด้วยตนเอง และอีกส่วนไม่มีความรู้ที่จะดูแลอย่างเพียงพอ อีกทั้งไม่สามารถสั่งการให้คนที่ดูแลทำตามที่เราต้องการได้ (ต่างคนต่างไม่รู้จริง-ก็เลยไปกันใหญ่)