กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัวยุทธศาสตร์พระพิรุณ พัฒนาตลาดเกษตรดิจิทัล บนแพลตฟอร์มจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเกษตรกร –ผู้ประกอบการ กว่า 1 ล้านราย ซื้อขายผ่านแอพ Hello Trade สร้างช่องทางขายสินค้าเกษตรให้เกษตรกรได้ทันที ไม่โดนพ่อค้าคนกลางกดราคาอีกต่อไ
เมื่อวันที่ 22 พ.ค.61 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิตัล ครั้งที่ 1/2561 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่แผนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งหวังให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและหลากหลายมาเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) เพื่อเป็นการพัฒนาตลาดเกษตรดิจิทัลทั้งบนแพลตฟอร์ม e-Matching Market (EMM) และด้านกายภาพค้าปลีกและค้าส่ง มุ่งหวังเพื่อยกระดับการค้าสินค้าเกษตรตามหลักตลาดนำการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ด้วยเครื่องมือจับคู่ผู้ซื้อขายที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะพัฒนาต่อยอดจากเว็บไซต์ตลาดเกษตรดิจิทัล และระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนในชื่อ Hello Trade
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ แผนยกระดับการตลาดเกษตร 4.0 หรือ ยุทธศาสตร์พระพิรุณ (Agriculture 4.0) เป็นแผนยุทธศาสตร์และโครงการเชิงกลยุทธ์ ที่จัดสรรพื้นที่ตลาด Free Digital Market และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในลักษณะ Digital Economy เพื่อสร้างมาตรการที่จูงใจเกษตรกรต่อการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน โดยไม่ต้องแทรกแซงกลไกราคา แต่สร้างความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงช่องทางการตลาดในทันทีของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจน SME ที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ Digital Thailand 4.0
“หลักการทำงานของยุทธศาสตร์พระพิรุณ คือ การใช้ระบบ AI เพื่อ Matching คู่ค้าทุกฝ่ายที่อยู่ในตลาดการเกษตรและตลาดการบริโภค จะทำให้เกษตรกรที่มีสินค้าทางการเกษตร ที่อยากขายและอยากซื้อทั้งปลีก-ส่ง ได้มาเจอกันเพื่อค้าขายตามกลไกตลาด โดยใช้ข้อมูล Big Data จากระบบช่วยในการตัดสินใจด้านราคาและปริมาณ รวมถึงบริการเสริมจาก Application ต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ มี ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ผลิตโปรแกรมจับคู่เฟสแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่ปลายปี 2560 ผ่านเว็บไซต์ www.DGTFarm.com และจะมีการพัฒนาเป็น Application ที่มีประโยชน์ และสามารถหาเงินได้สำหรับผู้ใช้ โดยตั้งเป้าอย่างน้อย 1 ล้านบัญชีในช่วงต้นปี 2562 นี้ และจะพัฒนาต่อเนื่องตามนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป”
นายลักษณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับระบบ E-Matching เป็นประเภทหนึ่งของตลาดออนไลน์ ที่จะทำการจับคู่ให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ได้ติดต่อตกลงซื้อขาย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้คัดกรองผู้ใช้ที่สามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่ราชการมีอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการหลอกลวง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการพัฒนาด้านตลาดออนไลน์แล้วก็ตาม แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ยังคำนึงถึงระบบทางกายภาพ โดยได้จัดตั้งร้านค้าปลีกต้นแบบ Q4U เพื่อให้ผู้สนใจและเกษตรกร นำไปเป็นต้นแบบเปิดเป็นร้าน Free Franchise ในการจำหน่ายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และสินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าชุมชน ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง เพื่อให้เกิดระบบค้าปลีก และหน้าร้านสำหรับสินค้าที่อยู่ในตลาดออนไลน์ด้วย รวมถึงระบบค้าส่งและศูนย์กระจายสินค้าเพื่อสนับสนุนระบบค้าปลีก โดยมี “ล้งเกษตรสุขใจ” ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไปที่ล้ง และใช้โปรแกรมจับคู่ทำการ Matching จับคู่ให้ โดยตลาดจะรับรองคุณภาพ มาตรฐาน และราคาให้ ทำให้ทุกคนไม่ต้องลำบากตามระบบเดิมอีกต่อไป