กรมประมง จัดกิจกรรม ขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์ โครงการ “สร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร” ภายใต้โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน โดยจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมและศักยภาพในการดำเนินการ จำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 19 จังหวัด
ใช้งบประมาณกว่า 9.8 ล้านบาท หนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกุ้งทะเล ด้วยการเพิ่มแหล่งผลิต
หัวเชื้อจุลินทรีย์ และแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ต่อไป
จากปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเลที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมและ โรคระบาด กรมประมงจึงได้ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อใช้สำหรับปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้ง โดยหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 จะมีกลไกในการช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ สามารถลดปริมาณเชื้อก่อโรคในสิ่งแวดล้อมและระบบทางเดินอาหาร รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารของกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือ “จุลินทรีย์ ปม.1” ถูกค้นคว้าวิจัยขึ้นโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาครร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2551 ซึ่งได้คัดเลือกจุลินทรีย์ในกลุ่ม Bacillus 3 ชนิด คือ B.subtilis , B.megateriumและ B.licheniformis ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เหมาะสำหรับใช้บำบัดสารอินทรีย์ที่ตกค้างสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยระยะเริ่มต้นกรมประมงได้ดำเนินการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 จำนวน 100,000 ซอง เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทั่วประเทศไทย โดยเกษตรกรไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ได้ดำเนินการผลิตและแจกจ่ายจุลินทรีย์ ปม.1 ทั้งสูตรผงและสูตรน้ำให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี และมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น เกินกว่ากำลังการผลิตของกรมประมง
ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ให้เพียงพอต่อความต้องการ ของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมงจึงได้จัดทำ “โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์” ขึ้น ภายใต้โครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้งบประมาณ จำนวน 9,800,000 บาท เพื่อจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 ให้แก่กลุ่มเกษตรกร ชมรม สมาคม สหกรณ์ และสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินการ รวมจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ทั้งหมด 19 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี สตูล พัทลุง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง ตราด ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยจะเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 นี้ และจะเริ่มผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม.1 สูตรน้ำ แจกจ่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงได้นำไปใช้ในการเลี้ยงกุ้งทะเลและสัตว์น้ำอื่น ๆ โดยคาดการณ์ว่าสามารถให้บริการแจกจ่ายแก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการมากยิ่งขึ้น
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า คาดหวังว่ากิจกรรม ขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์ในโครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรของกรมประมงทั้ง 20 แห่งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกุ้งทะเล โดยสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ลดความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โรคระบาด รวมถึงเกษตรกรสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้